นิทรรศการ ชุด พม่าระยะประชิด (พ.ศ. 2559)
- TH NDMI EXH-TMP-17
- Series
- 2017-05-23
Part of แผนผังและภาพถ่ายนิทรรศการ
นิทรรศการชั่วคราว พม่าระยะประชิด
ตั้งแต่ปี 2559 เมื่อประเทศไทยและประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รวมตัวเป็นประชาคมอาเซียน เพื่อสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม การเกิดขึ้นของประชาคมอาเซียนนี้จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากการขยายตัวของเศรษฐกิจ กฎระเบียบสังคม การกระจายความเจริญ และที่สำคัญคือ สังคมจะมีความหลากหลายทางเชื้อชาติและวัฒนธรรมมากขึ้น ความสัมพันธ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมภายในภูมิภาคจะเพิ่มมากขึ้น มีความใกล้ชิดและมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันมากขึ้น
เพื่อการทำความเข้าใจอาเซียนในมิติของความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ ควรจัดสร้างสรรค์นิทรรศการหมุนเวียนที่สามารถนำเสนอมุมมองของการอยู่ร่วมกันภายใต้ความแตกต่าง โดยพิจารณาว่า พม่า เป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีความสัมพันธ์กับไทยในมิติต่างๆ มาอย่างยาวนาน โดยเคยเป็นคู่ปรับด้วยมายาคติทางประวัติศาสตร์มาเป็นโมเดลการเรียนรู้และสร้างความเข้าใจใหม่ๆ เกี่ยวกับพม่า ประกอบกับปัจจุบันมีประชากรจากพม่านับล้านคนเข้ามาเป็นแรงงานในภาคอุตสาหกรรมของไทย โดยเฉพาะปรากฏการณ์แรงงานต่างด้าวชาว “พม่า” ที่หลั่งไหลเข้ามาทำงานในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2539 ที่เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างเด่นชัด ทำให้ชาวพม่ามีส่วนสำคัญในภาคเศรษฐกิจไทยอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะกิจการด้านประมงและรับเหมาก่อสร้าง จากสถิติของกระทรวงแรงงานในปี พ.ศ.2553 พบว่ามีแรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองอย่างถูกกฎหมายราว 1 ล้าน 3 แสนคน ในจำนวนนี้ร้อยละ 82 เป็นชาวพม่า เท่ากับว่าราว 1 ล้านคน ของแรงงานเหล่านี้เป็นชาวพม่า แต่จากข้อมูลเชิงลึก พบว่านอกจากแรงงานขึ้นทะเบียนเหล่านี้แล้ว ยังมีแรงงานที่หลบหนีเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายหลบซ่อนตัวทำงานในไทยอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้
ความเข้าใจของคนไทยต่อชาวพม่าในไทยยังมีจำกัด ขณะที่การเพิ่มขึ้นของแรงงานชาวพม่ายังมีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อยๆ การทำความเข้าใจชาวพม่าในประเทศอย่างลึกซึ้ง ทั้งในเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ ความใฝ่ฝัน การปรับตัวต่อสังคมไทย ตลอดจนคุณูปการของชาวพม่าต่อสังคมไทยอย่างข้ามกรอบอคติ จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการอยู่ร่วมกันบนฐานของความสร้างสรรค์และความเคารพซึ่งกัน นอกจากนี้การทำความเข้าใจในเรื่องดังกล่าว ยังจะเป็นภาพสะท้อนช่วยให้เข้าใจ “คนไทย” มากยิ่งขึ้นด้วย
นิทรรศการ “พม่าระยะประชิด” นี้ มุ่งเน้นให้ผู้เข้าชมได้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์ นำเสนอสิ่งของจากสภาพความเป็นอยู่จริงที่ได้จากการลงภาคสนาม พร้อมนำเสนอสื่อในรูปแบบต่างๆ รวมถึงกิจกรรมที่จะทำให้ผู้เข้าชมมีความเข้าใจนิทรรศการมากขึ้น กิจกรรมเสวนาประวัติศาสตร์พม่าที่หายไป, กิจกรรมละครเวทีโดยนักแสดงที่เป็นเด็กชาวพม่า, การแสดงหุ่นกระบอกพม่า สถาบันฯ ในฐานะที่เป็นองค์การที่ทำหน้าที่จัดการความรู้ขนาดใหญ่ มุ่งหวังว่านิทรรศการและกิจกรรมที่เกิดขึ้นนี้นอกจากจะนำเสนอเนื้อหาที่สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับพม่าซึ่งเป็นโมเดลการเรียนรู้ในเรื่องเกี่ยวกับอาเซียนแล้ว นิทรรศการนี้ยังสามารถให้แนวความคิดเกี่ยวกับจุดเปลี่ยนของสังคมและการเปิดใจกว้างในการทำความรู้จักผู้คนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย
วัตถุประสงค์ในการจัดนิทรรศการชั่วคราว พม่าระยะประชัด เพื่อให้ผู้ชมตระหนักและเกิดความเข้าใจอันดีระหว่างผู้คนในภูมิภาค ซึ่งกำลังจะเกิดปฏิสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดในอนาคตอันใกล้
กลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วยเยาวชน นักเรียน นิสิตนักศึกษา และผู้สนใจทั่วไป
สถานที่จัดนิทรรศการ อาคารอเนกประสงค์ สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ เนื้อที่โดยรวม 246 ตร.ม.
ระยะเวลาดำเนินการ ระยะเวลาจัดแสดงนิทรรศการ มีนาคม – มิถุนายน 2559 (4 เดือน)
สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ. ฝ่ายวิชาการ. แผนกวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้