Print preview Close

Showing 890 results

Archival description
แผนผังและภาพถ่ายนิทรรศการ Item With digital objects
Print preview View:

จับไมค์ใส่ขนนก : ยุคภาพยนตร์เพลง (พ.ศ. 2513 - 2515)

ยุคภาพยนตร์เพลง (พ.ศ. 2513 - 2515)

เมื่อมีการแข่งขันกันเองระหว่างเพลงลูกกรุงและเพลงลูกทุ่งในยุคนี้ จึงเริ่มนำเพลงลูกทุ่งมาประกอบในภาพยนตร์ ซึ่งเรื่องแรกที่โด่งดัง เป็นที่กล่าวขวัญถึงเป็นอย่างมากคือ มนต์รักลูกทุ่ง โดยเฉพาะเพลงมนต์รักลูกทุ่ง ที่ไพบูลย์ บุตรขัน เป็นผู้แต่ง ขับร้องโดย ไพรวัลย์ ลูกเพชร มีความไพเราะ ทั้งท่วงทำนอง และเนื้อหา ดุจบทกวีที่ประทับใจผู้ชม เช่น "หอมเอย หอมดอกกระถิน รวยระรินเคล้ากลิ่นกองฟาง…หอมดินเคล้ากลิ่นไอฝน ครวญระคนหอมแก้มนงคราญ ขลุ่ยเป่าแผ่วพลิ้วผ่านทิวแถวต้นตาล มนต์รักเพลงชาวบ้านลูกทุ่งแผ่วมา" ส่งผลให้ภาพยนตร์เรื่องต่อๆ มาในยุคนี้ เปลี่ยนแนวมาเป็นภาพยนตร์เพลงส่วนใหญ่ เช่น เรื่อง โทน ที่มีสังข์ทอง สีใส ร้องนำ เนื้อหาของเพลงในช่วงนี้ นอกจากเป็นเรื่องของชาวชนบทท้องทุ่งท้องนาแล้ว ยังแทรกอารมณ์ขันและคารมเสียดสีด้วย

จับไมค์ใส่ขนนก : ยุคหางเครื่องและคอนเสิร์ต (พ.ศ. 2519 - 2528)

ยุคหางเครื่องและคอนเสิร์ต (พ.ศ. 2519 - 2528)

หลังเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เนื้อหาของเพลงลูกทุ่งที่เกี่ยวกับความทุกข์ยากของชาวนา กรรมกร และแนวเพื่อชีวิตมีน้อยลง เนื่องจากการปิดกั้นของภาครัฐ ส่งผลให้กลับมานิยมเนื้อหาด้านการเกี้ยวพาราสีและความรักของหนุ่มสาว ยุคนี้มีนักร้องใหม่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ผลงานหลากหลาย วงดนตรีลูกทุ่งมีการแข่งขันมากขึ้น ใช้เงินลงทุนมากขึ้น ใช้เทคนิคแสง สี เสียงที่ทันสมัย การเต้นประกอบเพลงของหางเครื่องมีความอลังการมากขึ้น เนื้อหาของเพลงในช่วงนี้สะท้อนปัญหาใหม่ๆ ของสังคมเพิ่มขึ้นด้วย เช่น การขายแรงงานในต่างประเทศ การย้ายถิ่นฐานในการประกอบอาชีพของชาวชนบท เข้าสู่เมืองหลวง อาทิ เพลงน้ำตาเมียซาอุ ร้องโดย พิมพา พรศิริ เพลงฉันทนาที่รัก ร้องโดย รักชาติ ศิริชัย ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับชายหนุ่มเขียนจดหมายถึงสาวคนรักชื่อฉันทนา ที่ทำงานอยู่โรงงานทอผ้า ซึ่งเพลงนี้ได้รับความนิยมอย่างสูง จนกระทั่งสื่อมวลชนใช้คำว่า "ฉันทนา" แทนผู้หญิงที่ทำงานในโรงงาน

จับไมค์ใส่ขนนก : ยุคเพลงลูกทุ่งแนวสตริง (พ.ศ. 2528 - 2535)

ยุคเพลงลูกทุ่งแนวสตริง (พ.ศ. 2528 - 2535)

เมื่อดนตรีแนวสตริง และแนวร็อก ที่ได้รับอิทธิพลจากต่างประเทศ ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง เพลงสตริงสำหรับวัยรุ่นแพร่หลายเต็มตลาด ความนิยมเพลงลูกทุ่งเริ่มลดน้อยลง ทำให้เพลงลูกทุ่งต้องปรับตัวให้เข้ากับดนตรีสมัยใหม่ แนวสตริงคอมโบ เพื่อให้เพลงลูกทุ่งกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง นักร้องเพลงลูกทุ่ง ที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในยุคนี้ คือ พุ่มพวง ดวงจันทร์ ซึ่งเป็นนักร้องที่มีศักยภาพสูง มีลีลาการร้อง และการเต้น ที่เข้ากับดนตรีสมัยนิยม และเป็นนักร้องลูกทุ่งหญิงคนแรก ที่ได้บุกเบิกมิวสิกวิดีโอของวงการเพลงไทย ผลงานชุดแรกของพุ่มพวง ดวงจันทร์ คือ อื้อหือ หล่อจัง เมื่อ พ.ศ. 2528 จึงประสบความสำเร็จอย่างกว้างขวาง ทำลายเส้นแบ่งรสนิยมของผู้ฟัง ซึ่งก่อนหน้านี้ถือว่า ผู้ที่มีรสนิยมดีต้องฟังเพลงสากล เพลงลูกกรุง เพลงสตริง แต่เพลงลูกทุ่งของพุ่มพวงเป็นเพลงที่ได้รับความนิยม และฟังได้ทุกชนชั้น เนื้อหาของเพลงได้เปลี่ยนบทบาทของผู้หญิงจากเดิม ที่ต้องเก็บกดความรู้สึก หรือเป็นฝ่ายถูกกระทำ มาเป็นผู้หญิงที่กล้าพูด กล้าทำ กล้าเปิดเผยความรู้สึก ฉลาดรู้ทันคน

หลังจาก พ.ศ. 2528 ได้มีนักร้องจากต่างประเทศมาเปิดการแสดง เรียกว่า เป็นการแสดงคอนเสิร์ต ต่อมา นักร้องไทยจึงจัดการแสดงคอนเสิร์ตตามอย่าง โดยพุ่มพวง ดวงจันทร์ ได้จัดการแสดงคอนเสิร์ต ที่เซ็นทรัลพลาซ่า เมื่อ พ.ศ. 2529 ขณะที่เพลง กระแซะเข้ามาซิ ได้รับความนิยมอย่างสูง และมีผู้ชมการแสดงล้นหลาม นับเป็นมิติใหม่ ของวงการเพลงลูกทุ่งไทย ทำให้วงการเพลงลูกทุ่งเปลี่ยนจากเพลงที่เรียบง่ายธรรมดา ฟังสบายๆ มาเป็นเพลงที่เร่าร้อน จังหวะสนุกสนาน และมีสีสัน สร้างความประทับใจ ให้แก่ผู้ฟังทั่วประเทศ

จับไมค์ใส่ขนนก : ยุคเพลงเพื่อชีวิต (พ.ศ. 2516 - 2519)

ยุคเพลงเพื่อชีวิต (พ.ศ. 2516 - 2519)

หลังจากเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นต้นมา เกิดกระแสความคิดแบบเพื่อชีวิต วงการเพลงลูกทุ่งซึ่งมีความไวต่อเหตุการณ์รอบตัวก็มีการแต่งเพลงในแนวเพื่อชีวิตมากขึ้น สะท้อนความยากจนของชาวนาชาวไร่ เช่น เพลงข้าวไม่มีขาย แต่งโดย โผผิน พรสุพรรณ มี ศรเพชร ศรสุพรรณ ขับร้อง สะท้อนให้เห็นภาพของหนุ่มชาวนาที่ทำนาแล้วไม่ได้ผล ทำให้ไม่มีข้าวไปขาย เพลงนี้ได้รับรางวัลเพลงยอดนิยมประจำปี พ.ศ. 2518 นอกจากนี้มีเพลงล้อเลียนการเมืองหรือเสียดสีนักการเมือง และเกิดเพลงลูกทุ่งผสมบทพูดขึ้นเป็นครั้งแรก โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับเหตุการณ์บ้านเมือง หรือชีวิตประจำวัน สร้างความขบขันเฮฮา แฝงด้วยการวิพากษ์วิจารณ์ เช่น เพลงผสมบทพูดตลกโดย เพลิน พรหมแดน

จับไมค์ใส่ขนนก : ลักษณะสำคัญของเพลงลูกทุ่ง 1

ลักษณะสำคัญของเพลงลูกทุ่ง 1

เพลงลูกทุ่งเป็นเพลงที่มีลักษณะฟังง่าย เข้าใจง่าย สามารถนำมาร้องตามได้ ไม่มีกฎเกณฑ์อะไรในการประพันธ์เพลง ไม่ว่าจะนำเพลงพื้นบ้าน เช่น ลิเก ลำตัด แหล่ หมอลำ เซิ้ง มโนราห์ มาร้องและปรับแต่งทำนองเนื้อหา ตลอดจนนำเพลงไทยเดิม หรือเพลงต่างประเทศ เช่น เพลงจีน ญี่ปุ่น เกาหลี มาปรับปรุงแต่งเนื้อร้องเพิ่มทำนองใหม่ หลักสำคัญของการสร้างทำนอง คือ ให้สามารถบรรจุคำร้องและบันทึกเป็นโน้ตสากลเพื่อบรรเลงด้วยดนตรีสากลได้

ลักษณะเด่นของเพลงลูกทุ่ง คือ การร้องที่ร้องอย่างเต็มเสียง ชัดถ้อยชัดคำ การเอื้อนเสียง การใช้ลูกคอ หรือการระรัวเสียงลูกคอ ของเพลงลูกทุ่ง ซึ่งมีช่วงเสียงที่ลึกและกว้าง คลื่นลูกคอแต่ละคลื่นจะห่างกัน นอกจากนี้ทำนองของเพลงลูกทุ่งก็มีลักษณะพิเศษ ที่เด่นชัดอีกประการคือ การนำท่วงทำนองจากเพลงไทยเดิมมาใช้ ดังที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ มีความว่า
"เมื่อข้าพเจ้าเติบโตขึ้น ได้ฟังเพลงอย่างพินิจพิเคราะห์มากขึ้นกว่าเดิม ทั้งได้ร่ำเรียนดนตรีไทยจากท่านผู้รู้ต่าง ๆ ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ก็ได้เห็นความจริงว่า นักร้องลูกทุ่งนั้นที่ดีมากคือ การร้องเพลงด้วยเสียงแท้ และร้องเต็มเสียงอย่างชัดถ้อยชัดคำ อีกประการหนึ่ง ลีลาการขับร้องเพลงลูกทุ่งคือ การเอื้อนเสียง นักร้องลูกทุ่งทุกคนมีวิธีเอื้อนเสียงให้อารมณ์แบบพื้นบ้านที่ไพเราะน่าฟัง แตกต่างไปจากเพลงไทยอย่างชัดเจน เป็นแบบอย่างของลูกทุ่งแท้ๆ หากนำวิธีเอื้อนที่ใช้ในเพลงไทยไปใช้กับเพลงลูกทุ่งแล้ว เพลงนั้นก็จะขาดความเป็นเพลงลูกทุ่งทันที ในทางกลับกัน จะนำเอื้อนลูกทุ่งไปใช้ในเพลงไทยก็ไม่ดีเช่นกัน

เพลงลูกทุ่งดีๆ หลายเพลงได้ทำนองมาจากเพลงไทยของเก่า มีทั้งที่ใช้ทำนองเดิมตลอดทั้งเพลง และที่นำเค้าโครงเพลงเก่ามาดัดแปลงขึ้นใหม่ นับว่า เป็นสะพานเชื่อมให้ของเก่าต่อกับของใหม่ หากบอกว่า มาจากของเก่าชื่ออะไรด้วย คนรุ่นใหม่ก็จะได้เรียนรู้เพลงเก่าไปพร้อมกัน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ เพลงนกแล มาจากเพลงลาวต้อยติ่ง เพลงรักจางที่บางปะกง ที่สดใส รุ่งโพธิ์ทอง ร้อง มาจากเพลงแขกมอญบางขุนพรหม 2 ชั้น เพลงหนุ่มนารอนาง ของไวพจน์ เพชรสุพรรณ มาจากเพลงลาวลำปาง เพลงลูกทุ่งเสี่ยงเทียน ของชินกร ไกรลาศ ก็มาจากเพลงลาวเสี่ยงเทียน ที่ได้มาจากเพลงไทย แล้วแต่งเติมเปลี่ยนแปลงไปบ้างก็มี เพลงยอยศพระลอ ของชินกร ไกรลาศ (เพลงนี้ร้องเกริ่นสำเนียงลาวคล้ายเกริ่นลาวครวญ แต่ไม่ใช่ แล้วนำเพลงลาวกระทบไม้เข้ามาต่อ) ที่ได้มาจากเพลงของเด็ก เป็นเพลงไทยพื้นบ้านก็มี ที่ทำไว้ดีก็คือ เพลงอ้อนจันทร์ ศรชัย เมฆวิเชียร ขับร้อง"

จับไมค์ใส่ขนนก : ลักษณะสำคัญของเพลงลูกทุ่ง 2

ลักษณะสำคัญของเพลงลูกทุ่ง 2

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ได้กล่าวถึงลักษณะเด่นของเพลงลูกทุ่ง จากการสัมมนาเชิงวิชาการเรื่อง "เส้นทางเพลงลูกทุ่งไทย" เมื่อวันที่ 25 - 29 มิถุนายน พ.ศ. 2533 สรุปได้ 4 ประการดังนี้

  1. เรียบง่าย
    คำร้อง เนื้อร้องของเพลงลูกทุ่งมีความเรียบง่าย แต่ยังคงไว้ซึ่งระเบียบแบบแผน มีลักษณะสัมผัสแบบกลอน มีท่อนวรรคสดับ รับ รอง ส่ง แต่ละวรรคจะมีคำร้องจำนวนมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับทำนองและจังหวะของบทเพลง

  2. ใส่ความรู้สึก
    เพลงลูกทุ่งสามารถใส่ความรู้สึกตลก เศร้า เสียดสี สนุกสนาน สามารถเล่นเสียง มีลีลาการร้องที่ไม่เหมือนเพลงลูกกรุง ที่ร้องแบบเรียบ ๆ เนื่องจากเพลงลูกทุ่งรับเอาวัฒนธรรมมาจากเพลงไทยเดิม และเพลงพื้นบ้าน จึงเปิดทางให้ผู้ร้องใส่ความรู้สึกลงไปในถ้อยคำได้

  3. บันทึกเรื่อง
    เพลงลูกทุ่งส่วนมากจะบันทึกเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น นับเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์สังคมไทยในช่วงเวลาต่างๆ เช่น ภาวะสงคราม การเมือง สภาพสังคมสมัยต่าง ๆ

  4. เฟื่องภาษา
    เพลงลูกทุ่งสามารถใช้ถ้อยคำบรรยายให้เกิดภาพพจน์ บางเพลงมีสำนวนโวหารที่สละสลวย

จับไมค์ใส่ขนนก : หางเครื่อง 1

หางเครื่อง 1

วงดนตรีลูกทุ่งในปัจจุบันถือว่าหางเครื่องมีความสำคัญที่จะขาดไม่ได้ และมีการแข่งขันสูงทางด้านความสวยงามวิจิตรตระการตา ในระยะแรกเพลงลูกทุ่งยังไม่มีหางเครื่องเหมือนดังเช่นปัจจุบัน หางเครื่องในอดีตหมายถึงเครื่องดนตรีพวกฉิ่ง ฉาบ กรับ กลอง ลูกแซ็ก ไม้แต๊ก แทมบูรีน ที่ใช้เคาะให้จังหวะอยู่ด้านหลังของวงดนตรี เนื่องจากการแสดงของวงดนตรีลูกทุ่งสมัยแรก ใช้เวลา 3 - 4 ชั่วโมง มีรีวิวประกอบเพลงไม่มากนัก จึงให้คนในวงที่ว่างงานอยู่ออกมาช่วยตีเครื่องเคาะให้จังหวะต่างๆ ประกอบการร้อง ของนักร้องหน้าเวที และช่วยให้จังหวะเพลงเด่นชัดขึ้น เรียกกันว่า "เขย่าเครื่องเสียง" หรือ "เขย่าหางเครื่อง"

จับไมค์ใส่ขนนก : หางเครื่อง 2

หางเครื่อง 2

จินตนา ดำรงค์เลิศ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวถึง หางเครื่อง โดยนำมาจากหนังสือ "กึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย ภาค 2" ตอนหนึ่งมีใจความว่า ในตอนแรกผู้ที่ออกมาเขย่าหางเครื่อง มีทั้งหญิงและชาย บางครั้งเป็นตัวตลกประจำวง ต่อมา จึงพัฒนาขึ้น โดยใช้หญิงสาวสวย ๆ ออกมาเขย่าหางเครื่อง แต่ยังไม่ออกลีลาเต้น การแต่งกายสุดแล้วแต่เจ้าตัวจะใส่ ต่อมาช่วง พ.ศ. 2509 - 2510 ผู้ที่ออกมาเขย่าหางเครื่องประกอบจังหวะการร้องเพลงลูกทุ่ง มีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 4 - 7 คน การแต่งกายเหมือนกันโดยใช้ชุดเดียวตลอดการแสดง วงดนตรีสุรพล สมบัติเจริญ และวงสมานมิตร เกิดกำแพง มีหางเครื่องเป็นที่กล่าวขวัญ ต่อมาวงดนตรีของศรีนวล ภรรยาของสุรพล สมบัติเจริญ ได้จัดผู้เต้นระบำประกอบเพลงโดยใช้ผู้เต้นประมาณ 10 คน มีลีลาการเต้นแบบระบำฮาวาย หลังจากนั้น วงดนตรีลูกทุ่งก็ได้มีการแข่งขันด้านหางเครื่อง การแสดงของวงดนตรีใหญ่ๆ จะมีหางเครื่องเต้นประกอบทุกเพลง และเปลี่ยนเครื่องแต่งกายทุกเพลง จำนวนผู้เต้นประมาณ 15 - 16 คน แต่ถ้าเป็นเพลงเด่นจะมีถึง 40 คน

จับไมค์ใส่ขนนก : หางเครื่อง 3

หางเครื่อง 3

เมื่อ พ.ศ. 2518 ศกุนตลา พรหมสว่าง คู่ชีวิตของ เพลิน พรหมแดน ติดตาติดใจเครื่องทรงของโฟลี แบร์แฌร์ (Folies Bergeres) และ มูแลงรูจ (Moulin Rouge) เมื่อคราวไป "ดูงาน" ที่ประเทศฝรั่งเศส แล้วนำมาดัดแปลงใช้กับชุดหางเครื่องเพลงลูกทุ่งเป็นครั้งแรก จนเกิดเป็น "เทรนด์" ที่ปลุกกระแสแฟชั่นไปทั่ววงการ จากเพลงลูกทุ่งปกติธรรมดาจึงกลายเป็น "ศิลปะการแสดงระดับโลก หางเครื่องนับร้อย นุ่งน้อย ห่มนิด ฟิตเปรี๊ยะ" โดยจัดแสดงครั้งแรกในช่วงท้ายคอนเสิร์ตของ เพลิน พรมแดน

จับไมค์ใส่ขนนก : เครื่องดนตรี

เครื่องดนตรี

เครื่องดนตรีสากลที่ใช้ประกอบการบรรเลงเพลงลูกทุ่ง ส่วนใหญ่เป็นเครื่องเป่า ได้แก่ แซกโซโฟน ทรอมโบน ทรัมเป็ต กลอง กีตาร์ และเบส ส่วนเครื่องดนตรีไทย เช่น ฉิ่ง แคน ระนาด โทน ขลุ่ย ฯลฯ และมีเครื่องดนตรีอีกชนิดหนึ่ง ปรากฏอยู่ในเพลงลูกทุ่งระยะแรกจำนวนมาก คือ หีบเพลงชัก (accordion) ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของเพลงลูกทุ่งในอดีตทีเดียว

การจะเลือกใช้เครื่องดนตรีชนิดใดนั้น ขึ้นอยู่กับท่วงทำนอง และจังหวะของเพลง การใช้เครื่องดนตรีไทยประกอบเพลงลูกทุ่ง มีลักษณะใช้ประกอบเป็นช่วงสั้นๆ บรรเลงนำท่อนร้อง หรือบรรเลงรับเมื่อจบเนื้อร้องแต่ละท่อน ส่วนใหญ่ใช้กับเพลงที่มีพื้นฐานมาจากเพลงไทยเดิมหรือเพลงพื้นบ้าน และเพลงที่ต้องการให้เกิดบรรยากาศแบบไทย การใช้เครื่องดนตรีพื้นบ้าน ส่วนใหญ่จะนำมาประกอบเครื่องดนตรีสากลตามแนวของเพลงในแต่ละท้องถิ่น เพื่อช่วยสร้างบรรยากาศให้เป็นไปตามเนื้อร้อง ทำนอง และสำเนียงของบทเพลง เช่น ภาคเหนือ มักใช้พิณ ซอ ซึง ภาคกลาง มักใช้ระนาด ฉิ่ง กลองโทน กลองยาว รำมะนา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มักใช้แคน โปงลาง ภาคใต้ มักใช้โทน กลองชาตรี รำมะนา โหม่ง ฉิ่ง กรับ ปี เป็นส่วนประกอบ

การใช้เครื่องดนตรีสากลในอดีตมักใช้เครื่องเป่า และเครื่องให้จังหวะเป็นหลัก ในสมัยต่อมามีการนำเครื่องดนตรีไฟฟ้ามาใช้ เช่น กีตาร์ เบส คีย์บอร์ด เพื่อให้เข้ากับดนตรีสมัยใหม่ และสร้างความนิยมให้กับผู้ฟัง จึงกลายเป็นเพลงลูกทุ่งที่มีความทันสมัย เทียบเท่าเพลงสตริงและเพลงป๊อปในปัจจุบัน ซึ่งแตกต่างจากเพลงลูกทุ่งในอดีตอย่างสิ้นเชิง

จับไมค์ใส่ขนนก : เครื่องแต่งกาย

เครื่องแต่งกาย

ในยุคแรก ๆ นักร้องลูกทุ่งยังคงแต่งกายในรูปแบบการแต่งกายของชาวชนบท นักร้องชายใส่เสื้อม่อฮ่อม นักร้องหญิงนุ่งผ้าซิ่นหรือผ้าถุง เมื่อมีการแข่งขันมากขึ้น เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายก็พัฒนาให้มีความแปลกใหม่ตามไปด้วย นักร้องชายเริ่มมีการใส่สูท ส่วนชุดของนักร้องหญิงมีสีสันสดใส รูปแบบหลากหลาย และมีเครื่องประดับตกแต่งเพื่อให้มีความโดดเด่นที่สุดบนเวที ความสวยงามหรูหราของเครื่องแต่งกายนักร้อง มีการปักเลื่อม ติดระบาย รวมทั้งหางเครื่องที่มีการพัฒนาเครื่องแต่งกาย จากเดิมเพียงแค่คนในวงที่ว่างงานที่ช่วยเขย่าเครื่องดนตรี มาเป็นการเต้นประกอบเพลงด้วย รูปแบบเครื่องแต่งกายที่มีสีสัน มีการใช้ขนนก เลื่อม เพชรประดับตกแต่งให้ดูสวยงาม หรูหรา เห็นแล้วสะดุดตา ปัจจุบันมีการพัฒนาและประยุกต์ชุดหางเครื่องให้มีความทันสมัย เช่น การดัดแปลงจากชุดไทยให้มีความร่วมสมัยมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงทางด้านเครื่องแต่งกายของนักร้องชายที่เห็นได้ชัดเจน คือ จักรพรรณ์ อาบครบุรี ซึ่งเจ้าของค่ายเพลงมีการลงทุนด้านเครื่องแต่งกายสูงมาก นับเป็นการปฏิวัติการแต่งกายของนักร้องที่จะต้องตกแต่งปักเลื่อมติดเพชร ให้มีความสวยงามสะดุดตาผู้ชม

จับไมค์ใส่ขนนก : เพลงลูกทุ่ง

เพลงลูกทุ่ง หมายถึง เพลงที่สะท้อนวิถีชีวิต สภาพสังคม อุดมคติและวัฒนธรรมไทย มีท่วงทำนอง คำร้อง สำเนียง ลีลาการร้อง การบรรเลง ที่เป็นแบบแผน มีลักษณะเฉพาะ ซึ่งให้บรรยากาศของความเป็นลูกทุ่ง โดยเฉพาะการร้องเอื้อนที่ใช้ลูกคอ

เพลงลูกทุ่งเป็นเพลงไทยที่มีลักษณะเฉพาะ กล่าวคือ มีการใช้ภาษาง่าย ๆ บรรยายเรื่องราวของชีวิต สภาพสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งเน้นชีวิตของชาวชนบท โดยก่อนหน้านั้น ยังไม่มีการแบ่งแยกว่า เป็นลูกทุ่งหรือลูกกรุง เนื่องจาก เพลงไทยได้พัฒนามาจากเพลงไทยเดิมที่ใช้คำร้องที่มีลักษณะการเอื้อน และใช้เครื่องดนตรีไทยบรรเลง มาเป็นเพลงไทยสากล ที่มีเนื้อร้องเต็ม ใช้เครื่องดนตรีสากลบรรเลง ซึ่งได้รับความนิยมมากขึ้น เนื่องจากฟังง่าย ร้องง่าย จำได้ง่าย และมักเรียกลักษณะจากแนวการร้องของนักร้องแต่ละคนมากกว่า เช่น แนวรำวง แนวเพลงเพื่อชีวิต นอกจากนี้ นักประพันธ์เพลงรุ่นเก่า ๆ ก็ไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการแบ่งแยกประเภทของเพลงไทยสากลว่า เป็นเพลงลูกทุ่ง และลูกกรุง เพราะถือว่า ดนตรีเป็นภาษาสากลและต่างเป็นเพลงไทยสากลเช่นเดียวกัน

จับไมค์ใส่ขนนก : เวที

เวที

วงดนตรีลูกทุ่งเป็นวงดนตรีขนาดใหญ่ มีทั้งนักดนตรี เครื่องดนตรี เครื่องเสียง และหางเครื่อง จึงต้องใช้พื้นที่บนเวทีมากพอสมควร แต่เดิมเวทีกลางแจ้งอาจประกอบอย่างง่าย ๆ โดยเป็นเวทีทำด้วยไม้กระดานปูบนถังน้ำมันขนาดใหญ่ เวทีสูงจากพื้นประมาณ 2 - 2.5 เมตร ทั้งนี้ต้องไม่สูงเกินไปนัก เพื่อให้แฟนเพลงได้คล้องพวงมาลัยนักร้อง ด้านหน้าเวทีติดตั้งหลอดไฟหลากสี ฉากหลังมีชื่อวงดนตรี หรือชื่อนักร้องขนาดใหญ่พร้อมประดับไฟให้ดูเด่น ด้านหลังเวทีใช้เป็นที่แต่งตัวของหางเครื่องและเป็นที่เตรียมตัวของนักร้อง แต่ในปัจจุบันได้มีการประกอบเวทีชั่วคราวกลางแจ้งอย่างแข็งแรงมั่นคง มีอุปกรณ์เฉพาะที่ติดตั้งสะดวก ถอดประกอบง่าย โดยวงดนตรีที่ใหญ่ๆ อาจมีทีมงานเฉพาะสำหรับติดตั้งเวทีล่วงหน้า หรือจ้างจากบริษัทที่รับจัดงานโดยตรง ทั้งนี้ เพื่อความสะดวก รวดเร็ว และป้องกันอุบัติเหตุ

ชาวนานักค้นคว้าแห่งท้องทุ่ง : ข้าวป่า

ข้าวป่า เป็นข้าวที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ โดยทั่วไปจะพบเห็นในลำคลองข้าง ๆ ทาง ในแอ่งน้ำริมแปลงข้าวปลูกหรือในแปลงข้าวปลูก ชื่อข้าวป่าอาจถูกเรียกแตกต่างกันไป เช่น ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียกว่า หญ้าข้าวนก ภาคกลางเรียกข้าวละมาร หรือ หญ้าละมาน เป็นต้น

จากข้าวป่าที่สำรวจพบทั่วโลก 21 ชนิด พบว่า มีในประเทศไทย อย่างน้อย 5 ชนิด ข้าวป่าบางชนิดเป็นบรรพบุรุษของข้าวปลูกและมีความหลากหลายทางพันธุกรรมสูง ปัจจุบัน มีการนำข้าวป่ามาทำประโยชน์น้อยมาก เนื่องจากยังมีข้อมูลไม่เพียงพอ สาเหตุจากมนุษย์ให้ความสำคัญต่อความหลากหลายทางชีวภาพน้อยเกินไป ข้าวป่าเหล่านี้ใกล้จะสูญพันธุ์อันเนื่องมาจากการพัฒนาประเทศ การขยายเมือง สร้างถนน สร้างเขื่อน ตลอดจนการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการเพิ่มผลผลิตพืช

ชาวนานักค้นคว้าแห่งท้องทุ่ง : ข้าวเจ้า

ข้าวเจ้า มีลักษณะเมล็ดยาวรี ต้นสูง เป็นข้าวที่ปลูกในเอเชียเขตมรสุม ตั้งแต่ จีน เวียดนาม ฟิลิปปินส์ ไทย อินโดนีเซีย อินเดีย และศรีลังกา ข้าวพันธุ์นี้ค้นพบครั้งแรกในอินเดียและต่อมาได้พัฒนาไปปลูกที่ทวีปอเมริกา

ชาวนานักค้นคว้าแห่งท้องทุ่ง : ข้าวเหนียว

ข้าวเหนียว (Glutinous Rice) เป็นข้าวชนิดหนึ่ง เป็นพืชตระกูลหญ้า มีอายุสั้นเพียงฤดูเดียว เจริญเติบโตได้ง่าย ๆ เป็นพืชล้มลุกขนาดเล็ก ลำต้นตั้งตรง ลำต้นมีลักษณะกลมเล็ก ๆ มีข้อและปล้องกลวง ช่วงโคนต้นมีข้อและปล้องสั้นกว่า และยาวขึ้นเรื่อย ๆ มีเปลือกหนา มีขนหยาบ ๆ ปกคลุม ต้นมีสีเหลืองนวล สีเขียว ผลเป็นเมล็ด อยู่เป็นช่อ มีลักษณะทรงรีเล็ก ๆ มีเปลือกแข็งแห้งหุ้มเมล็ด เปลือกเมล็ดอ่อนมีสีเขียว เปลือกเมล็ดแก่มีสีเหลืองทอง สีม่วงแดง ตามสายพันธุ์ ข้างในมีเมล็ดแข็งมาก มีสีขาวขุ่น สีดำ ตามสายพันธุ์

ข้าวเหนียวหุงสุกแล้ว เมล็ดจะเหนียวติดกันเหมือนกาว มีกลิ่นหอม มีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปเอเชีย มีปลูกกันในเขตร้อนหลายประเทศทั่วโลก ในประเทศไทยมีปลูกหลายสายพันธุ์ มีประโยชน์และสรรพคุณทางยาหลายอย่าง

ชาวนานักค้นคว้าแห่งท้องทุ่ง : ครกกระเดื่อง และโชงโลง

ครกกระเดื่อง

ใช้ตำข้าวให้เปลือกหลุดออกเป็นข้าวสาร ครกกระเดื่องเป็นการนำหลักการทำงานของคานมาช่วยทุ่นแรงในการตำข้าวเปลือกให้กลายเป็นข้าวสาร การใช้หลัก “คานยก” ช่วยให้เราออกแรงน้อยลง และแทนที่จะใช้มือยกสากตำก็ใช้เท้าเหยียบที่ปลายด้านหนึ่งของคาน จุดหมุนจะช่วยยกปลายอีกข้างที่มีสากติดอยู่ เมื่อยกเท้าออกสากจะถูกปล่อยลงมาตำข้าวในครก

โชงโลง

เป็นเครื่องทุ่นแรงในการวิดน้ำเข้านาระหว่างพื้นที่ระดับใกล้ๆกัน เวลาใช้จะดึงด้ามเข้าหาตัวก่อน โดยใช้มือหนึ่งเป็นตัวค้ำ (จุดหมุน) ทำให้ด้ามเป็นคานกดกระบวยให้วิดน้ำ ก่อนดันด้ามไปให้สุดเชือกเพื่อเสือกน้ำเข้านา เหมือนการใช้พลั่วตักดิน หากแต่โชงโลงมีเชือกช่วยรับน้ำหนักไว้เหมือนลูกตุ้มที่ตัวลูกตุ้มเป็นคานนั่นเอง

ชาวนานักค้นคว้าแห่งท้องทุ่ง : คันไถ

คันไถ

ใช้เตรียมดินก่อนเริ่มทำนา คันไถทำจากไม้จริง มีขนาดและความคดโค้งต่างกันไปตามความถนัดของคนใช้ ตรงกลาของคันไถจะเชื่อมติดกับ “ฮากไถ” หรือก้านไม้ที่ใช้ต่อกับเชือกแอกควาย เพื่อให้ควายช่วยลากคันไถไปข้างหน้า ในขณะที่คนจะจับปลายไถด้านบน กดตัวคันไถที่เป็นคานลงให้ “หัวหมู” ที่ติดอยู่ที่ปลายด้านล่างแซะดินขึ้นมา ช่วยเปิดหน้าดิน พรวนดิน

“หัวหมู” จะมีปลายแหลม ลำตัวโค้งไปข้างใดข้างหนึ่งเพื่อให้เวลาแซะดินขึ้นแล้วดินจะพลิกไปด้านข้าง นอกจากนี้หากลำตัวของหัวหมูแบนราบไปกับพื้นดิน จะไปกดดินให้แน่นทำให้ข้าวแทงรากได้ยาก

ชาวนานักค้นคว้าแห่งท้องทุ่ง : ชาวนา = นักชีววิทยา ผู้จัดการความสมดุลของห่วงโซ่อาหาร

ชาวนาผู้ช่ำชองจะรู้ว่า ไม่มีอะไรจะช่วยให้ข้าวเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนได้ดีไปกว่าระบบนิเวศที่สมดุล สิ่งมีชีวิตทั้งหลายในแปลงนาล้วนพึ่งพาอาศัยและควบคุมซึ่งกันและกัน ถ้าเราลำเอียงเร่งเลี้ยงข้าวให้โตอย่างเดียวโดยไม่แยแสสิ่งมีชีวิตอื่น ท้ายที่สุดข้าวและเราก็จะอยู่ไม่ได้ ชาวนาจึงมีหน้าที่เรียนรู้ธรรมชาติและคิดหากลยุทธ์ปลูกข้าวที่รักษาระบบนิเวศ เพื่อให้พลังแห่งความสมดุลเลี้ยงดูข้าวจนเติบโต
รู้จักเมนูโปรดของทุกสรรพสิ่ง

ชาวนาช่างสังเกตจะรู้ใจสัตว์ว่าตัวไหนชอบกินอะไร หากสัตว์ชนิดใดมีจำนวนมากเกินพอดี ก็จะต้องหาสัตว์ชนิดอื่นที่ชอบกิน หรือเป็นที่น่ากลัวของสัตว์ชนิดแรกมาอยู่ด้วย ตัวอย่างกลยุทธ์อันเหนือชั้นทำให้ระบบนิเวศทำงานแทนเรา

ตัวห้ำเบียน ซุปเปอร์แมงของชาวนา

ตัวห้ำ คือ แมลงที่กินแมลงอื่นเป็นอาหาร ส่วนตัวเบียนคือแมลงที่วางไข่ในแมลงตัวอื่น ไม่ว่าจะเป็นในไข่ ในตัวอ่อน หรือตัวโตเต็มวัย แมลงทั้งสองชนิดช่วยควบคุมปริมาณของแมลงที่ทำลายข้าว ไม่ให้มีมากจนเกินไป

ชาวนานักค้นคว้าแห่งท้องทุ่ง : ชาวนา = นักพันธุกรรมศาสตร์ ผู้ปลุกปั้นดีเอ็นเอข้าว

คัด + ผสม = ข้าว x 1000d จะปลูกข้าวทั้งที เมล็ดพันธุ์ที่ใช้ก็ต้องเจ๋งจริงๆ ชาวนาให้ความสำคัญในการเลือกเฟ้นพันธุ์ข้าวที่เหมาะกับผืนนาของตน เพื่อให้ได้ผลผลิตที่สูง ปลูกง่าย รวมถึงยังต้องเก็บสต็อกข้าวไว้หลายๆพันธุ์ เผื่อเอาไว้ปลูกในกรณีฉุกเฉินที่สภาพธรรมชาติเปลี่ยนแปลงไปมาก เป็นการลดความเสี่ยง และเพิ่มความมั่นคงทางอาหารให้แก่ชาวโลก

นอกจากนี้ ชาวนายังเป็น “นักพันธุ์กรรมศาสตร์” อีกด้วย เพราะข้าวที่ปลูกจะค่อยๆกลายพันธุ์ไป จึงต้องทำการปรับปรุงสายพันธุ์ โดยเลือกเอาข้อเด่นของข้าวแต่ละพันธุ์มาผสมกันและปลูกในแปลงทดลอง จากนั้นคัดเฉพาะต้นที่ให้ลักษณะตรงตามความต้องการ มาปลูกซ้ำอีกแปดรอบ เพื่อให้ได้ข้าวพันธุ์แท้ ก่อนนำไปปลูกจริง

Results 81 to 100 of 890