Showing 1195 results

Archival description
แผนผังและภาพถ่ายนิทรรศการ With digital objects
Print preview View:

จับไมค์ใส่ขนนก : ยุคปัจจุบัน (พ.ศ. 2536 - ปัจจุบัน)

ยุคปัจจุบัน (พ.ศ. 2536 - ปัจจุบัน)

ความนิยมในกลุ่มวัยรุ่นที่ชื่นชอบเพลงแนวสตริง ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างผู้ฟังกลุ่มผู้ใหญ่ บรรดาค่ายเทปเพลงต่างเล็งเห็นผลประโยชน์ที่จะได้จากผู้ฟังกลุ่มผู้ใหญ่ จึงได้นำเอาเพลงเก่าที่มีคุณค่าและเป็นที่รู้จัก คือ เพลงของวงสุนทราภรณ์มาเรียบเรียงเสียงประสานขับร้องใหม่ เช่น ชุด เยื่อไม้ เพลงหวานเมื่อวานนี้ ตราบนิรันดร์ มหาอมตะนิรันดร์กาล จึงเป็นกระแสของการอนุรักษ์เพลงเก่าซึ่งแพร่เข้ามาสู่วงการเพลงลูกทุ่ง สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้จัดงาน "กึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย" ขึ้น เมื่อวันที่ 25-26 มิถุนายน พ.ศ. 2533 โดยเชิญนักร้องเพลงลูกทุ่งยอดนิยมรุ่นเก่า มาแสดง และมีการอภิปรายของผู้ประพันธ์เพลง และนักวิชาการ ต่อมา มีการจัดงาน "กึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย ภาค 2" เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2535 เป็นการปลุกกระแสความนิยมเพลงลูกทุ่งกลับมาอีกครั้ง จนกระทั่งใน พ.ศ. 2535 ราชินีเพลงลูกทุ่ง พุ่มพวง ดวงจันทร์ เสียชีวิตอย่างกะทันหัน

ในระยะ 10 ปี ที่ผ่านมา เพลงลูกทุ่งยังคงได้รับความนิยมจากผู้ฟังอย่างต่อเนื่อง หลายเพลงเป็นเพลงยอดนิยมที่มีเนื้อหา ที่ประทับใจผู้ฟัง เช่น เพลง กระทงหลงทาง ของ ไชยา มิตรชัย เพลง จดหมายผิดซอง ของ มนต์สิทธิ์ คำสร้อย เพลง ยาใจคนจน และเพลง รองเท้าหน้าห้อง ของ ไมค์ ภิรมย์พร เพลง ปริญญาใจ ของ ศิริพร อำไพพงษ์ เพลง ขอใจกันหนาว ของ ต่าย อรทัย เพลงลูกทุ่งเหล่านี้ล้วนได้รับความนิยมทั่วประเทศ

จับไมค์ใส่ขนนก : ลักษณะสำคัญของเพลงลูกทุ่ง 1

ลักษณะสำคัญของเพลงลูกทุ่ง 1

เพลงลูกทุ่งเป็นเพลงที่มีลักษณะฟังง่าย เข้าใจง่าย สามารถนำมาร้องตามได้ ไม่มีกฎเกณฑ์อะไรในการประพันธ์เพลง ไม่ว่าจะนำเพลงพื้นบ้าน เช่น ลิเก ลำตัด แหล่ หมอลำ เซิ้ง มโนราห์ มาร้องและปรับแต่งทำนองเนื้อหา ตลอดจนนำเพลงไทยเดิม หรือเพลงต่างประเทศ เช่น เพลงจีน ญี่ปุ่น เกาหลี มาปรับปรุงแต่งเนื้อร้องเพิ่มทำนองใหม่ หลักสำคัญของการสร้างทำนอง คือ ให้สามารถบรรจุคำร้องและบันทึกเป็นโน้ตสากลเพื่อบรรเลงด้วยดนตรีสากลได้

ลักษณะเด่นของเพลงลูกทุ่ง คือ การร้องที่ร้องอย่างเต็มเสียง ชัดถ้อยชัดคำ การเอื้อนเสียง การใช้ลูกคอ หรือการระรัวเสียงลูกคอ ของเพลงลูกทุ่ง ซึ่งมีช่วงเสียงที่ลึกและกว้าง คลื่นลูกคอแต่ละคลื่นจะห่างกัน นอกจากนี้ทำนองของเพลงลูกทุ่งก็มีลักษณะพิเศษ ที่เด่นชัดอีกประการคือ การนำท่วงทำนองจากเพลงไทยเดิมมาใช้ ดังที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ มีความว่า
"เมื่อข้าพเจ้าเติบโตขึ้น ได้ฟังเพลงอย่างพินิจพิเคราะห์มากขึ้นกว่าเดิม ทั้งได้ร่ำเรียนดนตรีไทยจากท่านผู้รู้ต่าง ๆ ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ก็ได้เห็นความจริงว่า นักร้องลูกทุ่งนั้นที่ดีมากคือ การร้องเพลงด้วยเสียงแท้ และร้องเต็มเสียงอย่างชัดถ้อยชัดคำ อีกประการหนึ่ง ลีลาการขับร้องเพลงลูกทุ่งคือ การเอื้อนเสียง นักร้องลูกทุ่งทุกคนมีวิธีเอื้อนเสียงให้อารมณ์แบบพื้นบ้านที่ไพเราะน่าฟัง แตกต่างไปจากเพลงไทยอย่างชัดเจน เป็นแบบอย่างของลูกทุ่งแท้ๆ หากนำวิธีเอื้อนที่ใช้ในเพลงไทยไปใช้กับเพลงลูกทุ่งแล้ว เพลงนั้นก็จะขาดความเป็นเพลงลูกทุ่งทันที ในทางกลับกัน จะนำเอื้อนลูกทุ่งไปใช้ในเพลงไทยก็ไม่ดีเช่นกัน

เพลงลูกทุ่งดีๆ หลายเพลงได้ทำนองมาจากเพลงไทยของเก่า มีทั้งที่ใช้ทำนองเดิมตลอดทั้งเพลง และที่นำเค้าโครงเพลงเก่ามาดัดแปลงขึ้นใหม่ นับว่า เป็นสะพานเชื่อมให้ของเก่าต่อกับของใหม่ หากบอกว่า มาจากของเก่าชื่ออะไรด้วย คนรุ่นใหม่ก็จะได้เรียนรู้เพลงเก่าไปพร้อมกัน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ เพลงนกแล มาจากเพลงลาวต้อยติ่ง เพลงรักจางที่บางปะกง ที่สดใส รุ่งโพธิ์ทอง ร้อง มาจากเพลงแขกมอญบางขุนพรหม 2 ชั้น เพลงหนุ่มนารอนาง ของไวพจน์ เพชรสุพรรณ มาจากเพลงลาวลำปาง เพลงลูกทุ่งเสี่ยงเทียน ของชินกร ไกรลาศ ก็มาจากเพลงลาวเสี่ยงเทียน ที่ได้มาจากเพลงไทย แล้วแต่งเติมเปลี่ยนแปลงไปบ้างก็มี เพลงยอยศพระลอ ของชินกร ไกรลาศ (เพลงนี้ร้องเกริ่นสำเนียงลาวคล้ายเกริ่นลาวครวญ แต่ไม่ใช่ แล้วนำเพลงลาวกระทบไม้เข้ามาต่อ) ที่ได้มาจากเพลงของเด็ก เป็นเพลงไทยพื้นบ้านก็มี ที่ทำไว้ดีก็คือ เพลงอ้อนจันทร์ ศรชัย เมฆวิเชียร ขับร้อง"

จับไมค์ใส่ขนนก : ลักษณะสำคัญของเพลงลูกทุ่ง 2

ลักษณะสำคัญของเพลงลูกทุ่ง 2

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ได้กล่าวถึงลักษณะเด่นของเพลงลูกทุ่ง จากการสัมมนาเชิงวิชาการเรื่อง "เส้นทางเพลงลูกทุ่งไทย" เมื่อวันที่ 25 - 29 มิถุนายน พ.ศ. 2533 สรุปได้ 4 ประการดังนี้

  1. เรียบง่าย
    คำร้อง เนื้อร้องของเพลงลูกทุ่งมีความเรียบง่าย แต่ยังคงไว้ซึ่งระเบียบแบบแผน มีลักษณะสัมผัสแบบกลอน มีท่อนวรรคสดับ รับ รอง ส่ง แต่ละวรรคจะมีคำร้องจำนวนมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับทำนองและจังหวะของบทเพลง

  2. ใส่ความรู้สึก
    เพลงลูกทุ่งสามารถใส่ความรู้สึกตลก เศร้า เสียดสี สนุกสนาน สามารถเล่นเสียง มีลีลาการร้องที่ไม่เหมือนเพลงลูกกรุง ที่ร้องแบบเรียบ ๆ เนื่องจากเพลงลูกทุ่งรับเอาวัฒนธรรมมาจากเพลงไทยเดิม และเพลงพื้นบ้าน จึงเปิดทางให้ผู้ร้องใส่ความรู้สึกลงไปในถ้อยคำได้

  3. บันทึกเรื่อง
    เพลงลูกทุ่งส่วนมากจะบันทึกเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น นับเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์สังคมไทยในช่วงเวลาต่างๆ เช่น ภาวะสงคราม การเมือง สภาพสังคมสมัยต่าง ๆ

  4. เฟื่องภาษา
    เพลงลูกทุ่งสามารถใช้ถ้อยคำบรรยายให้เกิดภาพพจน์ บางเพลงมีสำนวนโวหารที่สละสลวย

จับไมค์ใส่ขนนก : นักแต่งเพลง 1

นักแต่งเพลง

ผู้แต่งเพลงให้กับนักร้อง นักแต่งเพลงเป็นผู้ที่มีความสามารถในการคิดท่วงทำนอง และเนื้อเพลง มีความคิดสร้างสรรค์ ที่จะนำความรู้สึก หรือเหตุการณ์ต่างๆ มาถ่ายทอดเป็นบทเพลงที่มีความหมาย และประทับใจผู้ฟัง นับว่า นักแต่งเพลงมีส่วนสำคัญ ที่จะสร้างความนิยมให้กับนักร้อง นักแต่งเพลงที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์มีมากมาย อาทิ ไพบูลย์ บุตรขัน เจ้าของผลงานเพลง ค่าน้ำนม มนต์เมืองเหนือ กลิ่นโคลนสาบควาย ชายสามโบสถ์ โลกนี้คือละคร ยมบาลเจ้าขา ฝนเดือนหก มนต์รักลูกทุ่ง เป็นต้น พยงค์ มุกดา แต่งเพลง สาวสวนแตง นกขมิ้น ชลธี ธารทอง แต่งเพลง น้ำตาอีสาน อีสาวทรานซิสเตอร์ ใต้ถุนธรณี ไอ้หนุ่มตังเก กานท์ การุณวงศ์ แต่งเพลง บ่เป็นหยังดอก จะขอก็รีบขอ ฉลอง ภู่สว่าง แต่งเพลง อ้อนจันทร์ คุณนายโรงแรม ปูไข่ไก่หลง ลพ บุรีรัตน์ แต่งเพลง กระแซะเข้ามาซิ หนูไม่รู้ ห่างหน่อยถอยนิด สลา คุณวุฒิ แต่งเพลง กระทงหลงทาง จดหมายผิดซอง ยาใจคนจน ขายแรงแต่งงาน รองเท้าหน้าห้อง เหนื่อยไหมคนดี ปริญญาใจ ขอใจกันหนาว โทรหาแน่เด้อ

จับไมค์ใส่ขนนก : นักแต่งเพลง 2

เมื่อมีการแข่งขันกันอย่างกว้างขวาง นักแต่งเพลงก็พยายามสร้างจุดเด่นประจำตัว ให้กับนักร้องของตน เพื่อเป็นที่จดจำและสร้างจุดขาย ตลอดจนแต่งเพลง ที่มีเนื้อหาสะดุดใจผู้ฟัง เช่น เพลงหนูไม่รู้ เพลงกระแซะเข้ามาซิ ของ พุ่มพวง ดวงจันทร์ เพลงเลิกแล้วค่ะ ของ อาภาพร นครสวรรค์ พยงค์ มุกดา

การประพันธ์เพลงให้กับนักร้องโดยทั่วไปจะมีอยู่ 2 วิธี คือ ประพันธ์เพลงไว้ก่อน แล้วจึงหานักร้องภายหลัง และประพันธ์เพลงตามลักษณะของนักร้อง โดยศึกษาจากน้ำเสียง ระยะความกว้างของเสียงสูงเสียงต่ำ รวมทั้งบุคลิกลักษณะ ผู้ประพันธ์ต้องถ่ายทอดผลงานต่อให้กับนักร้อง เพื่อให้รู้เนื้อเพลง จังหวะ ทำนอง ตลอดจนใส่อารมณ์เข้าไปในการร้อง เรียกว่า "การต่อเพลง" ในสมัยก่อน นักร้องจะร้องต่อเพลงโดยตรงจากผู้ประพันธ์ เนื่องจากยังไม่มีเทปคาสเซ็ตต์ จะต่อเพลงได้มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความจำของผู้ร้อง จนเมื่อได้ครบทั้งเพลง ก็จะแยกไปฝึกด้วยตนเอง จนกว่าจะมีการบันทึกเสียง แต่ในปัจจุบัน มีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาช่วย จึงทำให้การต่อเพลงมีความสะดวกมากขึ้น

จับไมค์ใส่ขนนก : นักร้อง

นักร้อง

การเป็นนักร้องอาชีพต้องผ่านขั้นตอนต่างๆ และต้องใช้ความพยายามอย่างมาก โดยเริ่มจากเป็นนักร้องสมัครเล่น ที่มีใจรักการร้องเพลง ส่วนใหญ่อาจผ่านเวทีการประกวดร้องเพลงที่จัดขึ้นตามงานต่างๆ ในสมัยก่อนเวทีประกวดที่สำคัญ คือ เวทีประกวดในงานวัด เมื่อใดที่วัดมีงานประจำปี มักจัดประกวดร้องเพลงเพื่อดึงดูดผู้ชมมาชมการประกวด เวทีงานวัดจึงเป็นหนทาง สำหรับผู้ที่ต้องการแสดงความสามารถด้านการร้องเพลง มาแสดงอย่างเต็มที่ เพลงที่ใช้ในการประกวด อาจเป็นเพลงที่กำลังได้รับความนิยม หรือเป็นเพลงที่แต่งขึ้นมาเอง เวทีงานวัดที่มีชื่อเสียงได้รับความนิยม เช่น วัดหัวลำโพง วัดสุทัศนเทพวราราม วัดสระเกศ ซึ่งวัยรุ่นที่มีใจรักการร้องเพลงจะใช้โอกาสนี้ขึ้นไปแสดงความสามารถบนเวที เพื่อเปิดตัวต่อสาธารณชน ต่อมาก็มีเวทีประกวดตามรายการวิทยุ โทรทัศน์ และการประกวดระดับชาติ หรือบางคนอาจสมัครอยู่ในวงดนตรี และเริ่มจากงานรับใช้ต่างๆ ภายในวงดนตรี และฝึกฝนการร้องเพลง เพื่อหาโอกาสร้องเพลงหน้าเวทีและบันทึกเสียง

จับไมค์ใส่ขนนก : เวที

เวที

วงดนตรีลูกทุ่งเป็นวงดนตรีขนาดใหญ่ มีทั้งนักดนตรี เครื่องดนตรี เครื่องเสียง และหางเครื่อง จึงต้องใช้พื้นที่บนเวทีมากพอสมควร แต่เดิมเวทีกลางแจ้งอาจประกอบอย่างง่าย ๆ โดยเป็นเวทีทำด้วยไม้กระดานปูบนถังน้ำมันขนาดใหญ่ เวทีสูงจากพื้นประมาณ 2 - 2.5 เมตร ทั้งนี้ต้องไม่สูงเกินไปนัก เพื่อให้แฟนเพลงได้คล้องพวงมาลัยนักร้อง ด้านหน้าเวทีติดตั้งหลอดไฟหลากสี ฉากหลังมีชื่อวงดนตรี หรือชื่อนักร้องขนาดใหญ่พร้อมประดับไฟให้ดูเด่น ด้านหลังเวทีใช้เป็นที่แต่งตัวของหางเครื่องและเป็นที่เตรียมตัวของนักร้อง แต่ในปัจจุบันได้มีการประกอบเวทีชั่วคราวกลางแจ้งอย่างแข็งแรงมั่นคง มีอุปกรณ์เฉพาะที่ติดตั้งสะดวก ถอดประกอบง่าย โดยวงดนตรีที่ใหญ่ๆ อาจมีทีมงานเฉพาะสำหรับติดตั้งเวทีล่วงหน้า หรือจ้างจากบริษัทที่รับจัดงานโดยตรง ทั้งนี้ เพื่อความสะดวก รวดเร็ว และป้องกันอุบัติเหตุ

จับไมค์ใส่ขนนก : เครื่องดนตรี

เครื่องดนตรี

เครื่องดนตรีสากลที่ใช้ประกอบการบรรเลงเพลงลูกทุ่ง ส่วนใหญ่เป็นเครื่องเป่า ได้แก่ แซกโซโฟน ทรอมโบน ทรัมเป็ต กลอง กีตาร์ และเบส ส่วนเครื่องดนตรีไทย เช่น ฉิ่ง แคน ระนาด โทน ขลุ่ย ฯลฯ และมีเครื่องดนตรีอีกชนิดหนึ่ง ปรากฏอยู่ในเพลงลูกทุ่งระยะแรกจำนวนมาก คือ หีบเพลงชัก (accordion) ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของเพลงลูกทุ่งในอดีตทีเดียว

การจะเลือกใช้เครื่องดนตรีชนิดใดนั้น ขึ้นอยู่กับท่วงทำนอง และจังหวะของเพลง การใช้เครื่องดนตรีไทยประกอบเพลงลูกทุ่ง มีลักษณะใช้ประกอบเป็นช่วงสั้นๆ บรรเลงนำท่อนร้อง หรือบรรเลงรับเมื่อจบเนื้อร้องแต่ละท่อน ส่วนใหญ่ใช้กับเพลงที่มีพื้นฐานมาจากเพลงไทยเดิมหรือเพลงพื้นบ้าน และเพลงที่ต้องการให้เกิดบรรยากาศแบบไทย การใช้เครื่องดนตรีพื้นบ้าน ส่วนใหญ่จะนำมาประกอบเครื่องดนตรีสากลตามแนวของเพลงในแต่ละท้องถิ่น เพื่อช่วยสร้างบรรยากาศให้เป็นไปตามเนื้อร้อง ทำนอง และสำเนียงของบทเพลง เช่น ภาคเหนือ มักใช้พิณ ซอ ซึง ภาคกลาง มักใช้ระนาด ฉิ่ง กลองโทน กลองยาว รำมะนา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มักใช้แคน โปงลาง ภาคใต้ มักใช้โทน กลองชาตรี รำมะนา โหม่ง ฉิ่ง กรับ ปี เป็นส่วนประกอบ

การใช้เครื่องดนตรีสากลในอดีตมักใช้เครื่องเป่า และเครื่องให้จังหวะเป็นหลัก ในสมัยต่อมามีการนำเครื่องดนตรีไฟฟ้ามาใช้ เช่น กีตาร์ เบส คีย์บอร์ด เพื่อให้เข้ากับดนตรีสมัยใหม่ และสร้างความนิยมให้กับผู้ฟัง จึงกลายเป็นเพลงลูกทุ่งที่มีความทันสมัย เทียบเท่าเพลงสตริงและเพลงป๊อปในปัจจุบัน ซึ่งแตกต่างจากเพลงลูกทุ่งในอดีตอย่างสิ้นเชิง

จับไมค์ใส่ขนนก : เครื่องแต่งกาย

เครื่องแต่งกาย

ในยุคแรก ๆ นักร้องลูกทุ่งยังคงแต่งกายในรูปแบบการแต่งกายของชาวชนบท นักร้องชายใส่เสื้อม่อฮ่อม นักร้องหญิงนุ่งผ้าซิ่นหรือผ้าถุง เมื่อมีการแข่งขันมากขึ้น เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายก็พัฒนาให้มีความแปลกใหม่ตามไปด้วย นักร้องชายเริ่มมีการใส่สูท ส่วนชุดของนักร้องหญิงมีสีสันสดใส รูปแบบหลากหลาย และมีเครื่องประดับตกแต่งเพื่อให้มีความโดดเด่นที่สุดบนเวที ความสวยงามหรูหราของเครื่องแต่งกายนักร้อง มีการปักเลื่อม ติดระบาย รวมทั้งหางเครื่องที่มีการพัฒนาเครื่องแต่งกาย จากเดิมเพียงแค่คนในวงที่ว่างงานที่ช่วยเขย่าเครื่องดนตรี มาเป็นการเต้นประกอบเพลงด้วย รูปแบบเครื่องแต่งกายที่มีสีสัน มีการใช้ขนนก เลื่อม เพชรประดับตกแต่งให้ดูสวยงาม หรูหรา เห็นแล้วสะดุดตา ปัจจุบันมีการพัฒนาและประยุกต์ชุดหางเครื่องให้มีความทันสมัย เช่น การดัดแปลงจากชุดไทยให้มีความร่วมสมัยมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงทางด้านเครื่องแต่งกายของนักร้องชายที่เห็นได้ชัดเจน คือ จักรพรรณ์ อาบครบุรี ซึ่งเจ้าของค่ายเพลงมีการลงทุนด้านเครื่องแต่งกายสูงมาก นับเป็นการปฏิวัติการแต่งกายของนักร้องที่จะต้องตกแต่งปักเลื่อมติดเพชร ให้มีความสวยงามสะดุดตาผู้ชม

จับไมค์ใส่ขนนก : หางเครื่อง 1

หางเครื่อง 1

วงดนตรีลูกทุ่งในปัจจุบันถือว่าหางเครื่องมีความสำคัญที่จะขาดไม่ได้ และมีการแข่งขันสูงทางด้านความสวยงามวิจิตรตระการตา ในระยะแรกเพลงลูกทุ่งยังไม่มีหางเครื่องเหมือนดังเช่นปัจจุบัน หางเครื่องในอดีตหมายถึงเครื่องดนตรีพวกฉิ่ง ฉาบ กรับ กลอง ลูกแซ็ก ไม้แต๊ก แทมบูรีน ที่ใช้เคาะให้จังหวะอยู่ด้านหลังของวงดนตรี เนื่องจากการแสดงของวงดนตรีลูกทุ่งสมัยแรก ใช้เวลา 3 - 4 ชั่วโมง มีรีวิวประกอบเพลงไม่มากนัก จึงให้คนในวงที่ว่างงานอยู่ออกมาช่วยตีเครื่องเคาะให้จังหวะต่างๆ ประกอบการร้อง ของนักร้องหน้าเวที และช่วยให้จังหวะเพลงเด่นชัดขึ้น เรียกกันว่า "เขย่าเครื่องเสียง" หรือ "เขย่าหางเครื่อง"

จับไมค์ใส่ขนนก : หางเครื่อง 2

หางเครื่อง 2

จินตนา ดำรงค์เลิศ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวถึง หางเครื่อง โดยนำมาจากหนังสือ "กึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย ภาค 2" ตอนหนึ่งมีใจความว่า ในตอนแรกผู้ที่ออกมาเขย่าหางเครื่อง มีทั้งหญิงและชาย บางครั้งเป็นตัวตลกประจำวง ต่อมา จึงพัฒนาขึ้น โดยใช้หญิงสาวสวย ๆ ออกมาเขย่าหางเครื่อง แต่ยังไม่ออกลีลาเต้น การแต่งกายสุดแล้วแต่เจ้าตัวจะใส่ ต่อมาช่วง พ.ศ. 2509 - 2510 ผู้ที่ออกมาเขย่าหางเครื่องประกอบจังหวะการร้องเพลงลูกทุ่ง มีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 4 - 7 คน การแต่งกายเหมือนกันโดยใช้ชุดเดียวตลอดการแสดง วงดนตรีสุรพล สมบัติเจริญ และวงสมานมิตร เกิดกำแพง มีหางเครื่องเป็นที่กล่าวขวัญ ต่อมาวงดนตรีของศรีนวล ภรรยาของสุรพล สมบัติเจริญ ได้จัดผู้เต้นระบำประกอบเพลงโดยใช้ผู้เต้นประมาณ 10 คน มีลีลาการเต้นแบบระบำฮาวาย หลังจากนั้น วงดนตรีลูกทุ่งก็ได้มีการแข่งขันด้านหางเครื่อง การแสดงของวงดนตรีใหญ่ๆ จะมีหางเครื่องเต้นประกอบทุกเพลง และเปลี่ยนเครื่องแต่งกายทุกเพลง จำนวนผู้เต้นประมาณ 15 - 16 คน แต่ถ้าเป็นเพลงเด่นจะมีถึง 40 คน

จับไมค์ใส่ขนนก : หางเครื่อง 3

หางเครื่อง 3

เมื่อ พ.ศ. 2518 ศกุนตลา พรหมสว่าง คู่ชีวิตของ เพลิน พรหมแดน ติดตาติดใจเครื่องทรงของโฟลี แบร์แฌร์ (Folies Bergeres) และ มูแลงรูจ (Moulin Rouge) เมื่อคราวไป "ดูงาน" ที่ประเทศฝรั่งเศส แล้วนำมาดัดแปลงใช้กับชุดหางเครื่องเพลงลูกทุ่งเป็นครั้งแรก จนเกิดเป็น "เทรนด์" ที่ปลุกกระแสแฟชั่นไปทั่ววงการ จากเพลงลูกทุ่งปกติธรรมดาจึงกลายเป็น "ศิลปะการแสดงระดับโลก หางเครื่องนับร้อย นุ่งน้อย ห่มนิด ฟิตเปรี๊ยะ" โดยจัดแสดงครั้งแรกในช่วงท้ายคอนเสิร์ตของ เพลิน พรมแดน

จับไมค์ใส่ขนนก : ผู้ชม

ผู้ชม

การแสดงความนิยมชมชอบของผู้ชม ที่มีต่อนักร้องที่ตนชื่นชอบ คือ การช่วยสนับสนุน ซื้อผลงานของนักร้องผู้นั้น หรือการซื้อบัตรชมการแสดง ซึ่งเวลาชมการแสดงของนักร้อง ที่ตนนิยม นอกจากจะปรบมือแสดงความชื่นชมแล้ว ยังมีการมอบสิ่งของ เช่น พวงมาลัยคล้องคอ ของขวัญ ให้นักร้องในเวลาที่ร้องเพลงจบ หรือในช่วงที่ดนตรีบรรเลงคั่นเพลง พวงมาลัยมีทั้งแบบที่ซื้อจากหน้างาน ซึ่งมักเป็นการจำหน่ายของวงดนตรีวงนั้น ๆ เอง หรือเจ้าภาพนำมาจำหน่าย และแบบที่ผู้ชมจัดเตรียมมาเอง รูปแบบของพวงมาลัยอาจแบ่งได้ 4 ลักษณะ ได้แก่

1) พวงมาลัยที่ทำจากดอกไม้สด เช่น ดอกดาวเรือง ดอกมะลิ และอื่นๆ
2) พวงมาลัยที่ทำจากริบบิ้นคล้องกันเป็นลูกโซ่
3) พวงมาลัยที่ทำจากธนบัตร และ
4) พวงมาลัยที่มีลักษณะผสมผสานกัน เช่น พวงมาลัยดอกดาวเรืองติดธนบัตร

จับไมค์ใส่ขนนก : การตั้งวงดนตรี

การตั้งวงดนตรี

การตั้งวงดนตรีลูกทุ่งวงหนึ่ง ๆ มักมีองค์ประกอบหลัก ได้แก่ นายทุน หรือเจ้าของบริษัทแผ่นเสียง เทปเพลง ที่ออกเงินทุน ให้กับวงดนตรี หรือนักร้องเป็นผู้ตั้งวงดนตรีเอง ต่อไปคือ นักร้อง ผู้จัดการวงดนตรี ที่จะคอยนัดหมายการแสดงให้กับวง นักดนตรี นักร้องคนอื่นๆ ในวง ตลก เจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคนิค การทำฉาก แสง สี เสียง เจ้าหน้าที่ขนย้าย ขนเครื่องดนตรี ขนย้ายฉาก หางเครื่อง แม่ครัว คนขับรถ เด็กผู้ช่วยประจำวง ซึ่งวงดนตรีลูกทุ่งวงใหญ่ๆ อาจมีคนในวงมากกว่า 200 คน และมักเดินทางไปในที่ต่างๆ ด้วยรถโดยสารขนาดใหญ่หลายคัน การตั้งวงดนตรีจึงจำเป็นต้องใช้เงินทุนสูง และจำเป็นต้องออกเดินสายตลอดปี เพื่อให้มีรายได้เพียงพอสำหรับจ่ายให้แก่สมาชิกในวง ตัวอย่างเช่น วงดนตรีของวงพิณแคนแดนอีสาน ซึ่งมี ศิริพร อำไพพงษ์ เป็นนักร้องนำ และเป็นหัวหน้าวง จำนวนคนในวงมีมากกว่า 200 คน แบ่งเป็น นักร้อง นักดนตรี หางเครื่อง หมอลำ ตลก และเด็กในวง ซึ่งกว่าร้อยละ 70 เป็นลูกหลานเครือญาติของศิริพร อำไพพงษ์ วงพิณแคนแดนอีสานจะเดินสายไปเปิดการแสดง เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคมไปจนถึงเดือนพฤษภาคม ในปีถัดไป ซึ่งในช่วงดังกล่าวเข้าสู่ฤดูหนาวต่อถึงฤดูร้อน และหยุดพักในช่วงฤดูฝน วงพิณแคนแดนอีสานรับงานในลักษณะของการจ้างวงดนตรีไปแสดง หรือทางวงเปิดการแสดงเอง เรียกว่า "งานล้อมผ้า" ระหว่างการเดินสายไปตามจังหวัดต่างๆ รูปแบบการแสดงมีทั้งเป็นเพลงลูกทุ่ง สตริง ตลกอีสาน เพลงนานาชาติ ลิเกอีสาน เป็นต้น เพื่อสร้างความหลากหลายให้กับผู้ชมผู้ฟัง มีการคัดเลือกนักร้องคนอื่นๆ ในวงขึ้นมา เพื่อสร้างความหลากหลาย และแนวการร้อง ที่แตกต่างเป็นลักษณะเฉพาะตัว เพื่อสร้างจุดขาย และแบ่งเบาภาระของนักร้องนำ

จับไมค์ใส่ขนนก : คุณค่าของเพลงลูกทุ่งไทย

คุณค่าของเพลงลูกทุ่งไทย

ขออัญเชิญพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเรื่อง ลูกทุ่งกับเพลงไทย ที่ทรงกล่าวถึงความดี ของเพลงลูกทุ่ง ตอนหนึ่งว่า

"พอจะสรุปว่าเพลงลูกทุ่งมีความดีหลายประการ คือ

  1. เป็นหลักฐานของข้อมูลทางประวัติศาสตร์สังคมของประเทศ
  2. เป็นที่รวมของภูมิปัญญาและทรัพย์สินทางปัญญาของชาวบ้าน
  3. เป็นเพลงที่เรียบง่าย เข้าใจง่าย ร้องง่าย จำง่าย
  4. สามารถเข้าถึงสังคมทุกชั้น กระจายได้กว้างไกลถึงชนบททุกแห่ง
  5. มีความเป็นไทยทั้งในเรื่องของภาษา ทำนอง และการขับร้อง"

เพลงลูกทุ่งไทยมีคุณลักษณะโดดเด่นเฉพาะตัวทั้งในด้านการออกเสียง และการใช้ภาษา นับเป็นการอนุรักษ์ภาษาไทย ซึ่งเป็นภาษาประจำชาติไทย จึงควรช่วยกันอนุรักษ์เพลงลูกทุ่งไทย เพื่อให้เป็นเอกลักษณ์ของชาติไทยสืบไป

สืบจากส้วม : โลกของส้วม

ส้วมไม่ใช่เรื่อง “ขี้ ๆ” มาตั้งแต่มนุษย์เกิดมาเมื่อล้านปีที่แล้ว เพราะมนุษย์ทั้งโลกต่างคิดใคร่ครวญหาส้วมที่ “ดีที่สุด” มากำจัดอึ ก่อนที่อึจะย้อนมากำจัดเรา

คนไทยก็เหมือนกัน เรามีส้วมหลายแบบ ตั้งแต่การอึในทุ่งนาแบบใกล้ชิดธรรมชาติ การอึแบบลดกลิ่นโดยส้วมไฮเทคจากเมืองแขก หรือการอึแบบ “เทพ” ของชนชั้นปกครอง รวมไปถึงการอึใส่ถังสำหรับคนเมืองรุ่นแรกที่ยืมความคิดมาจากคนจีน ฯลฯ

ส้วมมากมายขนาดนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากไม่มีความหลากหลายของกลุ่มคนให้เราหยิบยืมความคิดมาปรับใช้และสูดดม

สืบจากส้วม : ไปทุ่ง ไปท่า

ไปทุ่ง ไปท่า

สังคมไทยในยุคดั้งเดิมที่ยังมีประชากรน้อย และอยู่อาศัยกันแบบพึ่งพาธรรมชาติ เรื่องอึ ก็เป็นเรื่อง “ขี้ ๆ” ใครมีบ้านเรือนอยู่ริมทุ่งนา ก็ไปอึในทุ่ง ใครมีบ้านอยู่ริมน้ำ ก็ไปอึที่ท่าน้ำ จึงเป็นที่มาของคำว่า “ไปทุ่ง” “ไปท่า” รวมถึงคำว่า “ไปป่า” ก็ย่อมเป็นคำพูดติดปากของคนที่มีบ้านอยู่ชายป่านั่นเอง
เมื่ออีเสร็จแล้ว อึนั้น ก็ไม่ได้ไปไหน แต่ถูกกำจัดไปโดยธรรมชาติที่อยู่รอบตัวเรา

สืบจากส้วม : เปิดตัวเทศบาลเพื่อนยาก

เทศบาลเอ๋งกับเทศบาลอู๊ด
สำหรับคน “ไปทุ่ง” หรือคนที่คิดจะอึในบางมุมของเมือง ก่อนจะนั่งลงหย่อนต้องกวาดตาให้แน่ใจก่อนว่า ไม่มีเจ้าเพื่อนยากสี่ขาสองชนิด คือ น้องหมูและน้องหมา ที่อาจเข้ามารบกวนความสงบ เพราะ อึ คือ อาหารโปรดของมัน

เทศบาลใต้บาดาล
สำหรับคน “ไปท่า” และคนที่อยู่ในเรือนแพ น่าจะหาความสงบได้ง่ายหน่อยตรงที่เทศบาลอย่างปลาแขยงจะซุ่มคอย “เหยื่อ” อยู่ที่ผิวน้ำจนเมื่อ “อาหาร” ตกลงมานั่นแหละ มันจึงเริ่มปฏิบัติ “ตอด” แบบไม่ให้เหลือซากเหลือกลิ่นเลยทีเดียว

สืบจากส้วม : ส้วมพระ มาจากไหน

ส้วมพระ มาจากไหน
ในสมัยสุโขทัย มีการเชื่อมสัมพันธ์ด้านพุทธศาสนากับลังกาอย่างใกล้ชิด ดังนั้น นอกจากหลักคำสอนแล้ว สุโขทัยยังรับ “กฎ กติกา มารยาท” และเทคโนโลยีในการขับถ่ายมาจากลังกาด้วย หนึ่งในนั้นก็ คือ “ถานพระ”

“ถานพระ” มีรูและร่อง ที่อยู่ในตำแหน่งเหมาะสม ช่วยแยกอุจจาระไม่ให้ปนกับปัสสาวะ เมื่ออุจจาระแห้งกลิ่นอันไม่พึงประสงค์ก็ลดลงไปอย่างมาก แต่เนื่องจากพื้นดินของประเทศไทยมีความชุ่มน้ำมาก ทำให้อุจจาระที่แม้ไม่เปียกด้วยปัสสาวะ ก็ต้องมาเปียกด้วยน้ำในหลุมดินอยู่ดี ถานพระชนิดนี้จึงไม่เป็นที่นิยมนักในดินแดนประเทศไทย

“เว็จ”
พระสงฆ์ มีคำเรียกสถานที่ขับถ่ายโดยเฉพาะ คือ “เว็จ” มาจากภาษาบาลี-สันสกฤตในคำว่า “วจฺจกุฏิ” ซึ่งหมายถึงสถานที่ขับถ่ายของสงฆ์ในวัด ต่อมาคำว่า “วจฺจ” แผลงเป็น “เว็จ” และใช้ในความหมายที่กว้างขึ้น หมายถึงส้วมโดยทั่วไป

Results 201 to 220 of 1195