Showing 1162 results

คำอธิบายจดหมายเหตุ
แผนผังและภาพถ่ายนิทรรศการ Image With digital objects
Print preview View:

จับไมค์ใส่ขนนก : ยุคหางเครื่องและคอนเสิร์ต (พ.ศ. 2519 - 2528)

ยุคหางเครื่องและคอนเสิร์ต (พ.ศ. 2519 - 2528)

หลังเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เนื้อหาของเพลงลูกทุ่งที่เกี่ยวกับความทุกข์ยากของชาวนา กรรมกร และแนวเพื่อชีวิตมีน้อยลง เนื่องจากการปิดกั้นของภาครัฐ ส่งผลให้กลับมานิยมเนื้อหาด้านการเกี้ยวพาราสีและความรักของหนุ่มสาว ยุคนี้มีนักร้องใหม่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ผลงานหลากหลาย วงดนตรีลูกทุ่งมีการแข่งขันมากขึ้น ใช้เงินลงทุนมากขึ้น ใช้เทคนิคแสง สี เสียงที่ทันสมัย การเต้นประกอบเพลงของหางเครื่องมีความอลังการมากขึ้น เนื้อหาของเพลงในช่วงนี้สะท้อนปัญหาใหม่ๆ ของสังคมเพิ่มขึ้นด้วย เช่น การขายแรงงานในต่างประเทศ การย้ายถิ่นฐานในการประกอบอาชีพของชาวชนบท เข้าสู่เมืองหลวง อาทิ เพลงน้ำตาเมียซาอุ ร้องโดย พิมพา พรศิริ เพลงฉันทนาที่รัก ร้องโดย รักชาติ ศิริชัย ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับชายหนุ่มเขียนจดหมายถึงสาวคนรักชื่อฉันทนา ที่ทำงานอยู่โรงงานทอผ้า ซึ่งเพลงนี้ได้รับความนิยมอย่างสูง จนกระทั่งสื่อมวลชนใช้คำว่า "ฉันทนา" แทนผู้หญิงที่ทำงานในโรงงาน

จับไมค์ใส่ขนนก : ยุคเพลงเพื่อชีวิต (พ.ศ. 2516 - 2519)

ยุคเพลงเพื่อชีวิต (พ.ศ. 2516 - 2519)

หลังจากเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นต้นมา เกิดกระแสความคิดแบบเพื่อชีวิต วงการเพลงลูกทุ่งซึ่งมีความไวต่อเหตุการณ์รอบตัวก็มีการแต่งเพลงในแนวเพื่อชีวิตมากขึ้น สะท้อนความยากจนของชาวนาชาวไร่ เช่น เพลงข้าวไม่มีขาย แต่งโดย โผผิน พรสุพรรณ มี ศรเพชร ศรสุพรรณ ขับร้อง สะท้อนให้เห็นภาพของหนุ่มชาวนาที่ทำนาแล้วไม่ได้ผล ทำให้ไม่มีข้าวไปขาย เพลงนี้ได้รับรางวัลเพลงยอดนิยมประจำปี พ.ศ. 2518 นอกจากนี้มีเพลงล้อเลียนการเมืองหรือเสียดสีนักการเมือง และเกิดเพลงลูกทุ่งผสมบทพูดขึ้นเป็นครั้งแรก โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับเหตุการณ์บ้านเมือง หรือชีวิตประจำวัน สร้างความขบขันเฮฮา แฝงด้วยการวิพากษ์วิจารณ์ เช่น เพลงผสมบทพูดตลกโดย เพลิน พรหมแดน

จับไมค์ใส่ขนนก : ยุคภาพยนตร์เพลง (พ.ศ. 2513 - 2515)

ยุคภาพยนตร์เพลง (พ.ศ. 2513 - 2515)

เมื่อมีการแข่งขันกันเองระหว่างเพลงลูกกรุงและเพลงลูกทุ่งในยุคนี้ จึงเริ่มนำเพลงลูกทุ่งมาประกอบในภาพยนตร์ ซึ่งเรื่องแรกที่โด่งดัง เป็นที่กล่าวขวัญถึงเป็นอย่างมากคือ มนต์รักลูกทุ่ง โดยเฉพาะเพลงมนต์รักลูกทุ่ง ที่ไพบูลย์ บุตรขัน เป็นผู้แต่ง ขับร้องโดย ไพรวัลย์ ลูกเพชร มีความไพเราะ ทั้งท่วงทำนอง และเนื้อหา ดุจบทกวีที่ประทับใจผู้ชม เช่น "หอมเอย หอมดอกกระถิน รวยระรินเคล้ากลิ่นกองฟาง…หอมดินเคล้ากลิ่นไอฝน ครวญระคนหอมแก้มนงคราญ ขลุ่ยเป่าแผ่วพลิ้วผ่านทิวแถวต้นตาล มนต์รักเพลงชาวบ้านลูกทุ่งแผ่วมา" ส่งผลให้ภาพยนตร์เรื่องต่อๆ มาในยุคนี้ เปลี่ยนแนวมาเป็นภาพยนตร์เพลงส่วนใหญ่ เช่น เรื่อง โทน ที่มีสังข์ทอง สีใส ร้องนำ เนื้อหาของเพลงในช่วงนี้ นอกจากเป็นเรื่องของชาวชนบทท้องทุ่งท้องนาแล้ว ยังแทรกอารมณ์ขันและคารมเสียดสีด้วย

จับไมค์ใส่ขนนก : ยุคทองของเพลงลูกทุ่ง (พ.ศ. 2507 - 2513)

ยุคทองของเพลงลูกทุ่ง (พ.ศ. 2507 - 2513)

สืบเนื่องจากการที่มีคำว่า "เพลงลูกทุ่ง" เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก และมีการนำเสนอ ผ่านรายการโทรทัศน์ ทำให้เพลงลูกทุ่งแพร่หลาย และได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว เนื้อหาของเพลงมีหลากหลาย เช่น บรรยายถึงชีวิตในชนบท สะท้อนชีวิตสาวชาวนา ที่หลงแสงสีเมืองกรุง ใน พ.ศ. 2509 มีการจัดงานแผ่นเสียงทองคำพระราชทานครั้งที่ 2 สมยศ ทัศนพันธ์ ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน ในฐานะ นักร้องลูกทุ่งชายยอดเยี่ยม ในเพลง ช่อทิพย์รวงทอง นักร้องที่มีชื่อเสียง เป็นที่นิยมของผู้ฟังทั่วไป เช่น ทูล ทองใจ ปอง ปรีดา ไพรวัลย์ ลูกเพชร พร ภิรมย์ ชาย เมืองสิงห์ ก้าน แก้วสุพรรณ เพลงลูกทุ่งมาถึงยุคเฟื่องฟูมากที่สุดในยุคของ สุรพล สมบัติเจริญ

จับไมค์ใส่ขนนก : ยุคต้น (พ.ศ. 2481 - 2507)

ยุคต้น (พ.ศ. 2481 - 2507)

นับว่า เป็นยุคบุกเบิกเพลงลูกทุ่ง เนื้อหาเพลงลูกทุ่งช่วงนี้ มักกล่าวถึงธรรมชาติ ที่สวยงามของชนบท ส่วนวิถีชีวิตของชาวชนบทมักกล่าวถึงความรักของหนุ่มสาว ความยึดมั่นในศาสนา และขนบธรรมเนียมประเพณี นักร้องที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ต่อวงการเพลงลูกทุ่งไทย ในแง่ที่เป็นผู้ริเริ่มเสนอผลงานเพลงอันทรงคุณค่าในยุคแรก ๆ เช่น คำรณ สัมบุณณานนท์ ชาญ เย็นแข ปรีชา บุญญเกียรติ วงจันทร์ ไพโรจน์ เบญจมินทร์ สมยศ ทัศนพันธ์ ส่วนนักร้องหญิงที่มีชื่อเสียง เช่น ผ่องศรี วรนุช ศรีสอางค์ ตรีเนตร วงดนตรีที่เด่น ๆ เช่น วงจุฬารัตน์ ของมงคล อมาตยกุล วงดนตรีพยงค์ มุกดา

จับไมค์ใส่ขนนก : เพลงลูกทุ่ง

เพลงลูกทุ่ง หมายถึง เพลงที่สะท้อนวิถีชีวิต สภาพสังคม อุดมคติและวัฒนธรรมไทย มีท่วงทำนอง คำร้อง สำเนียง ลีลาการร้อง การบรรเลง ที่เป็นแบบแผน มีลักษณะเฉพาะ ซึ่งให้บรรยากาศของความเป็นลูกทุ่ง โดยเฉพาะการร้องเอื้อนที่ใช้ลูกคอ

เพลงลูกทุ่งเป็นเพลงไทยที่มีลักษณะเฉพาะ กล่าวคือ มีการใช้ภาษาง่าย ๆ บรรยายเรื่องราวของชีวิต สภาพสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งเน้นชีวิตของชาวชนบท โดยก่อนหน้านั้น ยังไม่มีการแบ่งแยกว่า เป็นลูกทุ่งหรือลูกกรุง เนื่องจาก เพลงไทยได้พัฒนามาจากเพลงไทยเดิมที่ใช้คำร้องที่มีลักษณะการเอื้อน และใช้เครื่องดนตรีไทยบรรเลง มาเป็นเพลงไทยสากล ที่มีเนื้อร้องเต็ม ใช้เครื่องดนตรีสากลบรรเลง ซึ่งได้รับความนิยมมากขึ้น เนื่องจากฟังง่าย ร้องง่าย จำได้ง่าย และมักเรียกลักษณะจากแนวการร้องของนักร้องแต่ละคนมากกว่า เช่น แนวรำวง แนวเพลงเพื่อชีวิต นอกจากนี้ นักประพันธ์เพลงรุ่นเก่า ๆ ก็ไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการแบ่งแยกประเภทของเพลงไทยสากลว่า เป็นเพลงลูกทุ่ง และลูกกรุง เพราะถือว่า ดนตรีเป็นภาษาสากลและต่างเป็นเพลงไทยสากลเช่นเดียวกัน

ผลลัพธ์ 241 to 260 of 1162