Showing 67 results

Archival description
Series
Print preview View:

นิทรรศการ ชุด 100 ปี ตึกเรา : ตึกเก่า เล่าใหม่

นิทรรศการ ชุด ตึกเก่า เล่าใหม่ (New Take on Old Building) : 100 ปีตึกเรา ร้อยเรื่องราว เล่าเรื่องตึก (A Century of Our Building) เป็นนิทรรรศการชั่วคราวที่จัดแสดง ณ มิวเซียมสยาม ระหว่างวันที่ 23 เมษายน 2565 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 เนื่องในวาระที่อาคารมิวเซียมสยาม(กระทรวงพาณิชย์เดิม) มีอายุครบ 100 ปี ในปี พ.ศ. 2565 อาคารหลังนี้สร้างขึ้นเป็นสำนักงานของกระทรวงพาณิชย์ในปี พ.ศ. 2465 ออกแบบก่อสร้างโดยกรมโยธาธิการ ผู้รับผิดชอบโครงการนี้ คือ นายมารีโอ ตามาญโญ หัวหน้ากองสถาปัตย์ และนายเอมีลีโอ โจวันนี กอลโล หัวหน้าวิศวกร

หนึ่งศตวรรษของการเปลี่ยนผ่าน จากการออกแบบเมื่อ 100 ที่แล้ว สู่กระทรวงพาณิชย์ถึงมิวเซียมสยาม ตึกเก่านี้จึงเต็มไปด้วยเรื่องราวมากมายให้เล่าขานมากมาย

ปี ๒๕๖๕ นี้ "มิวเซียมสยาม" เชิญชวนทุกท่านมาร่วมเฉลิมฉลองและรำลึกถึงอาคารซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของ "เรา" โบราณสถานอันสง่างามหลังนี้ก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมเปิดใช้งานเป็น "กระทรวงพาณิชย์" เมื่อปี ๒๔๖๕ และมิวเซียมสยามได้รับมอบดูแลต่อเพื่อจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ ตึกมิวเซียมสยาม(กระทรวงพาณิชย์เดิม) มีอายุครบ ๑ ศตวรรษ หรือ ๑๐๐ ปีในปี 2565 จากการออกแบบของนายช่างชาวอิตาลี สู่กระทรวงพาณิชย์ และมิวเซียมสยาม เป็น ๑๐๐ ปี ของความทรงจำของผู้คนที่เคยทำงาน หรือมาใช้บริการที่นี่ เป็นตึกเก่าที่เต็มไปด้วยเรื่องราวมากมายให้เล่าขาน

เราขอเชิญทุกท่านมาร่วมบันทึกความทรงจำกันในนิทรรศการ "ตึกเก่าเล่าใหม่"

"ตึกเรา" แห่งนี้ ไม่ได้หมายรวมถึง "เรา" ที่เป็นชาว "มิวเซียมสยาม" เท่านั้น แต่โอบรับเอา "สาวก" มิวเซียมสยามทุกท่าน รวมไปถึงเยาวชนและประชาชนไทยทั่วไป ได้มีส่วนมาเป็นเจ้าของ "ตึกเรา" ร่วมกัน

สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ

นิทรรศการ ชุด หวยแหลก! แตกประเด็น คนเล่นหวย

นิทรรศการจะบอกเล่ากำเนิดความเป็นมาของหวย ลอตเตอรี่ และสลากกินแบ่ง บอกเล่ากลไกขององค์ประกอบด้านต่างๆ ของระบบ ตั้งแต่ ด้านพ่อค้าคนกลาง ยี่ปั๊ว หรือเสือกองสลากในอดีต ที่เป็นผู้กำหนดตลาดของสลากกินแบ่ง รวมไปถึงมีส่วนสำคัญมากในการจำหน่ายสลากด้านกลุ่มผู้ค้าเร่

สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ. ฝ่ายมิวเซียมสยาม. แผนกพัฒนาและบริหารงานนิทรรศการ

นิทรรศการ ชุด หวยแหลก! แตกประเด็น คนเล่นหวย

นิทรรศการหมุนเวียน ชุด "หวยแหลก! แตกประเด็น คนเล่นหวย" บอกเล่ากำเนิดความเป็นมาของหวย ลอตเตอรี่ และสลากกินแบ่ง บอกเล่ากลไกขององค์ประกอบด้านต่างๆ ของระบบ ตั้งแต่ด้านพ่อค้าคนกลาง ยี่ปั๊ว หรือเสือกองสลากในอดีตที่เป็นผู้กำหนดตลาดของสลากกินแบ่ง รวมไปถึงการจำหน่ายสลากกินแบ่ง

ประเด็นที่หนึ่ง : เริ่มจากการเรียนรู้กำเนิดความเป็นมาของหวย ก ข ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ในยุคที่เกิดข้าวยากหมากแพง เงินจากหวย ก ข จำนวนมากส่งเข้าหลวงสามารถช่วยให้เศรษฐกิจของสยามดีขึ้นและเป็นเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของสยามต่อเนื่องมาจนกระทั่งถูกยกเลิกในสมัยรัชกาลที่ 6 ส่วนลอตเตอรี่ เป็นการเสี่ยงโชคใหม่ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้นายเฮนรี่ อาลาบาศเตอร์ ออกรางวัลเพื่อระดมเงินทุนให้กับบรรดาพ่อค้าที่นำสินค้ามาจัดแสดงในการจัดพิพิธภัณฑ์ที่ตึกคองคอเดียในพระบรมมหาราชวัง การระดมทุนโดยออกลอตเตอรี่ ได้ปรับเปลี่ยนวิธีการและรูปแบบมาเรื่อย จนกลายเป็นสลากกินแบ่งรัฐบาลที่สร้างรายได้ให้กับรัฐจำนวนมหาศาล

ประเด็นที่สอง : แสดงให้เห็นโครงสร้างของการกระจายสลาก กลไกการสร้างมูลค่าของสลาก สลากจำนวน 2 ใน 3 กระจายสู่ผู้ค้ารายย่อยที่ได้ลงทะเบียนและได้รับการตรวจสอบแล้วว่าเป็นผู้ค้ารายย่อยจริง มีแผงค้าเป็นของตนเอง ผู้ค้าเหล่านี้จะแจ้งความจำนงล่วงหน้าว่าในงวดถัด ๆ ไป จะมารับซื้อไปขายกี่ฉบับ ช่วยให้สำนักงานสลากคำนวณได้ว่า ในแต่ละงวดต้องพิมพ์สลากกี่ใบ โดยที่ไม่เหลือมากจนขาดทุน จากโครงสร้างตลาดที่ไม่สอดรับกับความต้องการของผู้บริโภคและผู้ค้าเร่บางส่วน สบช่องให้เกิด ยี่ปั๊ว หรือผู้รวบรวมสลากเพื่อนำมาจัดชุด โดยแต่ละชุดจะมีเลขสลากเหมือนกัน ทำให้เมื่อถูกรางวัล ชุดนั้นก็จะได้รับเงินเป็นทวีคูณ

ประเด็นที่สาม : คนขายหวย นำเสนอวิถีชีวิตและเทคนิคในการขายหวยของผู้ค่าเร่ อาชีพเร่ขายหวยหรือลอตเตอรี่นี้เพิ่งเริ่มมีมาเมื่อ 30 ปีก่อน ชาวบ้านโพนงาม อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย มาเดินขายลอตเตอรี่ที่กรุงเทพ ฯ ถือเป็นจุดกำเนิดของ "หวยเดินไปหาคนซื้อ" คนเร่ขายลอตเตอรี่จะปรากฏตัว ณ จุดที่ผู้คนรวมตัวกัน ไม่ว่าจะ BTS MRT ห้างสรรพสินค้า หรือ แม้แต่ในหมู่บ้าน ไม่ซ้ำรายกันเลยทีเดียว วิถีชีวิตของผู้ค้าเร่ขายลอตเตอรี่ ขึ้นอยู่กับสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล และ โครงสร้างการตลาดของลอตเตอรี่ในแต่ละงวด พวกเขาเป็นไม้สุดท้ายที่นำส่งลอตเตอรี่มายังมือของนักเสี่ยงโชค

ประเด็นที่สี่ : คน เล่น หวย +ความเชื่อ สิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อนำเสนอความเชื่อ ความหวังของคนเล่นหวย เหตุใด เราถึงผูกโยงสิ่งศักดิ์สิทธิ์กับหวย ซึ่งเป็นเรื่องสถิติ การคำนวณ เช่น หวยย่านาค หวยไอ้ไข่ หวยคำชะโนด ฯลฯ หรือเพราะสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติ เป็นแหล่งเพิ่มความหวังและกำลังใจที่อยู่กับสังคมไทยมาช้านาน ในทุกเรื่องตั้งแต่เรื่องส่วนตัว ไปจนถึงการชะตากรรมของบ้านเมือง

สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ. ฝ่ายมิวเซียมสยาม. แผนกพัฒนาและบริหารงานนิทรรศการ

นิทรรศการ ชุด ล่องรอยราชดำเนิน : นิทรรศการผสานวัย

ล่องรอยราชดำเนิน : นิทรรศการผสานวัย เป็นนิทรรศการที่เกิดขึ้นจากแนวคิดในการเสนอประเด็นประวัติศาสตร์ผ่านการมีส่วนร่วมของสังคมด้วยกระบวนการพิพิธภัณฑ์

แนวคิดสำคัญ ประการแรก คือ การระลึกถึงถนนสายที่เก่าแก่ที่สุดสายหนึ่งในประเทศไทย ๑๒๑ ปีของถนนสายนี้เชื่อมโยงกับชีวิตของผู้คนทุกระดับชั้น จนกลายเป็นประวัติศาสตร์สังคมอันพึงจารึกจดจำ และแนวคิดที่สอง คือ ปรากฏการณ์การเข้าสู่สังคมสูงวัยของประชากรไทย

มิวเซียมสยามได้ตอบสนองปรากฏการณ์ดังกล่าวด้วยการจัดอบรมปฏิบัติการให้กลุ่มผู้สูงวัย ภายใต้ชื่อกลุ่ม “ภัณฑารักษ์วัยเก๋า” ขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๖๒ และได้ทำงานร่วมกับคนวัยเก๋าทั้ง ๑๖ ท่านในงานนิทรรศการนี้ ล่องรอยราชดำเนิน : นิทรรศการผสานวัย จึงเป็นการปะทะประสานมุมมองของคนต่างวัย ต่างประสบการณ์ที่ล้วนล่องอยู่ในรอยแห่งราชดำเนิน

นิทรรศการจัดแบ่งเป็น 4 ส่วน ได้แก่

ส่วนที่ 1 : การแนะนำนิทรรศการและการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของถนนราชดำเนินผ่านการเล่าเรื่องแบบเส้นเวเลา (Timeline) และใช้สื่อวิดิทัศน์ในการนำเสนอ

ส่วนที่ 2 : “ล่อง รอย” ที่นำเสนอประวัติศาสตร์การประชันทางความคิดของคนหลายยุคหลายสมัยบนถนนราชดำเนินที่สามารถเดินชมไปพร้อมกับการใช้สื่อดิจิตัล ได้แก่ สมาร์ทโฟน และหูฟังเป็นเครื่องมือในการชมเส้นสายแห่งประสบการณ์เรื่องเล่าใน 8 เส้นทาง โดยผู้เข้าชมจะรู้สึกสนุกไปกับเสียงบรรยายประกอบจากคณะเกศทิพย์ นักพากย์นิยายวิทยุที่โด่งดังอยู่ช่วงหนึ่งที่จะช่วยให้เราเข้าถึงเหตุการณ์ในยุคต่างๆ ได้เป็นอย่างดี

ส่วนที่ 3 : แสดงถึงสถานที่สำคัญบนถนนราชดำเนิน โดยจำลองแลนด์มาร์คสำคัญบนถนนราชดำเนินพร้อมเล่าเรื่องราวไปกับวัตถุจัดแสดงที่ได้รับมาจากผู้ที่สนใจร่วมแบ่งปันประสบการณ์ก่อนหน้านี้

ส่วนที่ 4 : นิทรรศการของภัณฑารักษ์วัยเก๋า เป็นอีกหนึ่งไฮไลท์ของนิทรรศการที่ได้คัดคนหนุ่มสาวยุคเบบี้บูมเมอร์เข้ามามีส่วนร่วมในการแบ่งปันประสบการณ์ โดยได้รับการฝึกอบรม ปฏิบัติการเรียนรู้จากมิวเซียมสยาม เรื่องเทคนิคการเล่าเรื่อง การถ่ายภาพ และตัดต่อวิดีทัศน์ด้วยมือถือ และนำผลงานเหล่านี้มาจัดแสดงให้ประชาชนได้ชมกัน

ระยะเวลาจัดแสดง

  • ช่วงที่ 1 : ตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม - 31 สิงหาคม 2563 เวลา 10.00-18.00 น. (ปิดทุกวันจันทร์) ณ มิวเซียมสยาม (MRT สนามไชย ทางออก 1 ไม่เสียค่าเข้าชม
  • ช่วงที่ 2 : ตั้งแต่วันที่ 9 กันยายน - 31 ตุลาคม 2563 เวลา 10.00-18.00 น. ณ หอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร ถนนราชดำเนินกลาง บริเวณสี่แยกคอกวัว

นิทรรศการ ชุด พระนคร

นิทรรศการหมุนเวียน ชุด พระนคร “สามยอด-วังบูรพา-พาหุรัด” ก้าวย่างบนเส้นทางอย่างตะวันตก นิทรรศการหมุนเวียนชุดใหม่จาก มิวเซียมสยาม ที่พาทุกคนไปรู้จักกับย่าน “สามยอด-วังบูรพา-พาหุรัด” ที่ในอดีต ที่เคยได้ชื่อว่าเป็น “ศูนย์กลาง” แห่งใหม่ของพระนคร ในช่วงที่อาณาจักรสยามต้องเผชิญหน้ากับการคุกคามจากโลกตะวันตก พื้นที่แห่งนี้จึงเปรียบเหมือนสถานบ่มเพาะการปรับตัวสู่โลกสมัยใหม่ ให้สยามอยู่รอดและผสานรอยต่อ พร้อมเข้าสู่สังคมตะวันตกอย่างเต็มตัวเช่นในปัจจุบัน

นิทรรศการแบ่งออกเป็น 7 โซน ประกอบด้วย

โซนที่ 1 : มีอะไรในแผนที่
บอกเล่าเรื่องราวความเปลี่ยนแปลงและวิวัฒนาการของย่านการค้าแห่งนี้ นับตั้งแต่ถนนเจริญกรุงตัดขึ้นมาในสมัยรัชกาลที่ 4 ความเปลี่ยนแปลงของเมืองบางกอกที่เชื่อมโยงถนนสายต่าง ๆ เชื่อมผู้คนจากต่างถิ่นให้เข้ามาหากัน ผ่านเทคนิคการ Mapping

โซนที่ 2 : ช่างฝรั่ง กับวังสยาม
โซนที่จะพาผู้ชมไปรู้จักกับ “ช่างฝรั่ง” นายโจอาคิม แกรซี เบื้องหลังงานออกแบบของสถาปัตยกรรมและสิ่งก่อสร้างในย่านนี้ ที่พลิกพระนครให้เป็นฝรั่งได้ด้วยสายตา

โซนที่ 3 : ช่างฝรั่ง โรงชักรูป
การเข้ามาของช่างชักรูปชาวต่างชาติ ที่หมุนเวียนกันเข้ามาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ก่อให้เกิดกระแสของการบันทึกภาพของชนชั้นนำชาวสยามและการถือกำเนิดขึ้นของสตูดิโอชักภาพในตำนานห้างโรเบิร์ต เลนซ์

โซนที่ 4 : หมอยาฝรั่ง ห้างบีกริม
บอกเล่าเรื่องราวของห้างสุดโอ่อ่า ที่ตั้งอยู่ตรงหัวมุมย่านประตูสามยอด ภายใต้การดูแลหมอยาฝรั่ง นายอดอล์ฟ ลิงค์ ได้นำพาสินค้านานาชนิดมาสู่พระนคร พร้อมการเกิดขึ้นของ “ร้านขายยาสยาม” และต้นกำเนิดของย่านขายเครื่องจักร, กล้อง และปืน

โซนที่ 5 : ห้างสรรพสินค้า พ่อค้านานาชาติ
จุดเริ่มต้นของห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้น ราวปลายรัชกาลที่ 6 คือ ช่วงเวลาเดียวกันของกระแส “เห่อของนอก” จากการหลั่งไหลเข้ามาของสินค้านานาชาติทั้งจีน, ฝรั่ง, แขกมุสลิมดาวูดี โบห์รา และแขกสิกข์ขายผ้า เข้ามาขายในพระนครจนติดอกติดใจชาวสยาม

โซนที่ 6 : มหรสพฝรั่ง โรงหนังนำสมัย
เรื่องราวของรูปแบบความบันเทิงจากตะวันตก ที่เข้ามามีอิทธิพลกับชีวิตของชาวพระนคร ให้เรียนรู้เรื่องฝรั่ง และความเป็นไปของโลกผ่านภาพยนตร์

โซนที่ 7 : ก้าวย่างอย่าง “สามยอด”
การมาถึงของรถไฟฟ้ามหานคร (MRT) กับเรื่องราวบทต่อไปของย่านนี้ กับความเปลี่ยนแปลงใหญ่อีกครั้ง “สามยอด-วังบูรพา-พาหุรัด”

นิทรรศการ ชุด พระนคร "สามยอด-วังบูรพา-พาหุรัด" ประกอบด้วย 1. พระนคร ON POSTCARD 2. พระนคร ON FOOT 3. พระนคร ON THE MOVE เปิดให้เข้าชมระหว่างวันที่ 5 พฤศจิกายน 2562 ถึง 1 มีนาคม 2563 เวลา 10.00 - 18.00 น. ณ อาคารอเนกประสงค์ มิวเซียมสยาม

สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ. ฝ่ายมิวเซียมสยาม. แผนกพัฒนาและบริหารงานนิทรรศการ

นิทรรศการ ชุด สักสี สักศรี ก่อนรอยแห่งเกียรติจะลบเลือน (Tattoo COLOR, Tattoo HONOR : Traditional Tattoos in Taiwan and Thailand)

สูจิบัตร นิทรรศการ สักสี สักศรี ก่อนรอยแห่งเกียรติจะลบเลือน (Tattoo COLOR, Tattoo HONOR : Traditional Tattoos in Taiwan and Thailand)
วันที่ 15 กรกฎาคม - 27 ตุลาคม 2562
เวลา 10.00 - 18.00 น.
เป็นนิทรรศการเสนอเรื่องราวของการสักและอุปกรณ์ งานศิลปะจากศิลปิน ชาติพันธุ์ ภาพถ่าย ตำนานและสารคดี

นิทรรศการ ชุด ชาย หญิง สิ่งสมมุติ (พ.ศ. 2561)

นิทรรศการ ชายหญิงสิ่งสมมุติ ว่าด้วยความหลากหลายทางเพศ (Gender Illumination)
วันที่ 2 พฤษภาคม - 30 กันยายน 2561 เวลา 10.00 - 18.00 น.
เป็นนิทรรศการว่าด้วยเรื่องความหลากหลายทางเพศ มีการจัดแสดงเรื่องราวและข้าวของจากปัจเจกชน สร้างการรับรู้ สร้างความเท่าทันต่อความเป็นไปร่วมสมัย

นิทรรศการ ชุด ไทยทำ...ทำทำไม (พ.ศ. 2560)

ความรู้ในการประดิษฐ์สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ จนเกิดเป็น “ภูมิปัญญา” แบบไทยๆ ขึ้นมา ถึงแม้ว่าของเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งประดิษฐ์ง่ายๆ ที่ไม่ได้ซับซ้อนหรือแสดงความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์มากมายก็ตาม แต่ของ “ไทยทำ” กลับแสดงให้เห็นว่าคนไทยเราอยู่อาศัยกับธรรมชาติได้อย่างเป็นสุข และเก่งนักในการปรับตัว ให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมรอบตัว

สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ. ฝ่ายมิวเซียมสยาม. แผนกพัฒนาและบริหารงานนิทรรศการ

นิทรรศการ ชุด พม่าระยะประชิด (พ.ศ. 2559)

นิทรรศการชั่วคราว พม่าระยะประชิด
ตั้งแต่ปี 2559 เมื่อประเทศไทยและประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รวมตัวเป็นประชาคมอาเซียน เพื่อสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม การเกิดขึ้นของประชาคมอาเซียนนี้จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากการขยายตัวของเศรษฐกิจ กฎระเบียบสังคม การกระจายความเจริญ และที่สำคัญคือ สังคมจะมีความหลากหลายทางเชื้อชาติและวัฒนธรรมมากขึ้น ความสัมพันธ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมภายในภูมิภาคจะเพิ่มมากขึ้น มีความใกล้ชิดและมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันมากขึ้น
เพื่อการทำความเข้าใจอาเซียนในมิติของความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ ควรจัดสร้างสรรค์นิทรรศการหมุนเวียนที่สามารถนำเสนอมุมมองของการอยู่ร่วมกันภายใต้ความแตกต่าง โดยพิจารณาว่า พม่า เป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีความสัมพันธ์กับไทยในมิติต่างๆ มาอย่างยาวนาน โดยเคยเป็นคู่ปรับด้วยมายาคติทางประวัติศาสตร์มาเป็นโมเดลการเรียนรู้และสร้างความเข้าใจใหม่ๆ เกี่ยวกับพม่า ประกอบกับปัจจุบันมีประชากรจากพม่านับล้านคนเข้ามาเป็นแรงงานในภาคอุตสาหกรรมของไทย โดยเฉพาะปรากฏการณ์แรงงานต่างด้าวชาว “พม่า” ที่หลั่งไหลเข้ามาทำงานในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2539 ที่เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างเด่นชัด ทำให้ชาวพม่ามีส่วนสำคัญในภาคเศรษฐกิจไทยอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะกิจการด้านประมงและรับเหมาก่อสร้าง จากสถิติของกระทรวงแรงงานในปี พ.ศ.2553 พบว่ามีแรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองอย่างถูกกฎหมายราว 1 ล้าน 3 แสนคน ในจำนวนนี้ร้อยละ 82 เป็นชาวพม่า เท่ากับว่าราว 1 ล้านคน ของแรงงานเหล่านี้เป็นชาวพม่า แต่จากข้อมูลเชิงลึก พบว่านอกจากแรงงานขึ้นทะเบียนเหล่านี้แล้ว ยังมีแรงงานที่หลบหนีเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายหลบซ่อนตัวทำงานในไทยอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้
ความเข้าใจของคนไทยต่อชาวพม่าในไทยยังมีจำกัด ขณะที่การเพิ่มขึ้นของแรงงานชาวพม่ายังมีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อยๆ การทำความเข้าใจชาวพม่าในประเทศอย่างลึกซึ้ง ทั้งในเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ ความใฝ่ฝัน การปรับตัวต่อสังคมไทย ตลอดจนคุณูปการของชาวพม่าต่อสังคมไทยอย่างข้ามกรอบอคติ จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการอยู่ร่วมกันบนฐานของความสร้างสรรค์และความเคารพซึ่งกัน นอกจากนี้การทำความเข้าใจในเรื่องดังกล่าว ยังจะเป็นภาพสะท้อนช่วยให้เข้าใจ “คนไทย” มากยิ่งขึ้นด้วย
นิทรรศการ “พม่าระยะประชิด” นี้ มุ่งเน้นให้ผู้เข้าชมได้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์ นำเสนอสิ่งของจากสภาพความเป็นอยู่จริงที่ได้จากการลงภาคสนาม พร้อมนำเสนอสื่อในรูปแบบต่างๆ รวมถึงกิจกรรมที่จะทำให้ผู้เข้าชมมีความเข้าใจนิทรรศการมากขึ้น กิจกรรมเสวนาประวัติศาสตร์พม่าที่หายไป, กิจกรรมละครเวทีโดยนักแสดงที่เป็นเด็กชาวพม่า, การแสดงหุ่นกระบอกพม่า สถาบันฯ ในฐานะที่เป็นองค์การที่ทำหน้าที่จัดการความรู้ขนาดใหญ่ มุ่งหวังว่านิทรรศการและกิจกรรมที่เกิดขึ้นนี้นอกจากจะนำเสนอเนื้อหาที่สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับพม่าซึ่งเป็นโมเดลการเรียนรู้ในเรื่องเกี่ยวกับอาเซียนแล้ว นิทรรศการนี้ยังสามารถให้แนวความคิดเกี่ยวกับจุดเปลี่ยนของสังคมและการเปิดใจกว้างในการทำความรู้จักผู้คนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย
วัตถุประสงค์ในการจัดนิทรรศการชั่วคราว พม่าระยะประชัด เพื่อให้ผู้ชมตระหนักและเกิดความเข้าใจอันดีระหว่างผู้คนในภูมิภาค ซึ่งกำลังจะเกิดปฏิสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดในอนาคตอันใกล้
กลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วยเยาวชน นักเรียน นิสิตนักศึกษา และผู้สนใจทั่วไป
สถานที่จัดนิทรรศการ อาคารอเนกประสงค์ สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ เนื้อที่โดยรวม 246 ตร.ม.
ระยะเวลาดำเนินการ ระยะเวลาจัดแสดงนิทรรศการ มีนาคม – มิถุนายน 2559 (4 เดือน)

สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ. ฝ่ายวิชาการ. แผนกวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้

ภาพถ่ายการเข้าเยี่ยมชมของ รองศาสตราจารย์นราพร จันทร์โอชา ภริยานายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยคณะคู่สมรส ผู้นํากลุ่มประเทศยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี – เจ้าพระยา – แม่โขง (16 มิถุนายน 2561)

เช้าวันที่ 16 มิถุนายน 2561 รองศาสตราจารย์นราพร จันทร์โอชา ภริยานายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยคณะคู่สมรสผู้นํากลุ่มประเทศยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี – เจ้าพระยา – แม่โขง (Ayeyawady – Chao phraya – Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) จาก 3 ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ให้เกียรติเยี่ยมชม มิวเซียมสยาม โดยมีคณะผู้บริหารของมิวเซียมสยามร่วมให้การต้อนรับ

นิทรรศการ ชุด เรื่องหนักหัว (พ.ศ. 2555)

เรื่องหนักหัว
มิวเซียมสยาม สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ จัดนิทรรศการชั่วคราว "เรื่องหนักหัว" เพื่อเปิดมุมมองใหม่และค้นหาตัวตนของคนไทย นำเสนอเรื่องราวของ "หมวก" เครื่องศิราภรณ์" และ "เครื่องประกอบศีรษะ" เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวและความเป็นมาของผู้คนที่อาศัยอยู่ในดินแดนสุวรรณภูมิ ผ่านหมวกมากมายหลากหลายชนิดที่ถูกนำไปสวมใส่อยู่บนหัว ซึ่งล้วนแต่มีบทบาทและความสำคัญในแง่มุมต่างๆ ทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง โดยนิทรรศการ "เรื่องหนักหัว" เป็นนิทรรศการรูปแบบใหม่ ที่จะแทรกเข้าไปอยู่ในนิทรรศการถาวร "เรียงความประเทศไทย" ตามห้องต่างๆ ภายในมิวเซียมสยามอย่างกลมกลืน และสอดคล้องกับช่วงยุคสมัยนั้น
ห้องเปิดตำนานสุวรรณภูมิ
นำเสนอเรื่องของ “หน้ากาก ตัวแทนแห่งผีและพิธีศักดิ์สิทธิ์” ที่ใช้ในพิธีกรรมขอฝนของคนยุคก่อน เป็นพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้อ้อนวอนธรรมชาติ ให้ช่วยดลบันดาลความอุดมสมบูรณ์ เพราะพวกเขารู้จักการทำนาปลูกข้าวและเริ่มตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชน ภาพเขียนสีบนผนังถ้ำที่พบได้ในสถานที่ต่างๆ ในประเทศไทย รวมไปถึงหน้ากากที่ใช้ในพิธีกรรมที่ยังคงมีการปฏิบัติสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน เช่น การละเล่นผีตาโขน จังหวัดเลย และพิธีกรรมเต้นรำใส่หน้ากากของชนเผ่าในเกาะบอร์เนียว ประเทศอินโดนีเซีย
หมวกทวาฯ นานาชาติ
สมัยทวารวดี นิทรรศการได้นำเสนอ “หัวปูนปั้นประดับฐานสถูป” โดยใช้ชื่อเรื่องว่า “หมวกทวาฯ นานาชาติ” ที่พบในเมืองโบราณแห่งต่างๆ ซึ่งเป็นยุคที่ประเทศอินเดียมีอิทธิพลอย่างมากไม่ว่าจะเป็นเรื่องศาสนา การค้าขาย และเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ราชสำนักไทยสยามก็มี “ขันที” ขุนนางในสมัยอยุธยาสวม “หมวกเครื่องแบบ” ชนิดหนึ่ง ที่เรียกว่า “ลอมพอก” คาดว่าได้รับอิทธิพลมาจากขันทีชาวเปอร์เซียที่เคยเข้ามาปฏิบัติงานในราชสำนักฝ่ายใน ด้วยรูปทรงที่แปลกตาจึงเป็นทอล์คออฟเดอะทาวน์ ปัจจุบันเรายังคงได้เห็น “พระยาแรกนา” ใส่ลอมพอกในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญหรือแม้แต่นาคก็ใส่เข้าพิธีบรรพชา

ชฎากับอัตลักษณ์ของความเป็นไทย
ค้นหาคำตอบว่าชฎาเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นไทยจริงหรือไม่ รวมไปถึงเรื่องราวของ “เลดี้กาก้า” กับชฎาที่ตกเป็นข่าว ที่ใส่โชว์บนคอนเสิร์ตในประเทศไทย ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังเป็นที่ถกเถียงในวงกว้าง ถึงความเหมาะสมถูก-ผิดกันต่อไป
ในตอนนี้จะมีสักกี่คนสำนึกรู้ว่า“ชฎา”คือสิ่งที่ถูกใช้เป็นตัวแทนสถาบันพระมหากษัตริย์ และใช้ในการแสดงมหรสพทางประเพณีไทยมาช้านาน นั่นเท่ากับว่ามูลค่าแห่งความสำคัญของชฎา มิใช่เพียงเครื่องแสดงอัตลักษณ์ แต่มันคือวัฒนธรรมอันล้ำค่าของคนไทย

สุภาพบุรุษชาวสยามกับความศิวิไลซ์
การเข้ามาของ “ฝรั่ง” นักล่าอาณานิคมจากประเทศยุโรป ทำให้สยามต้องเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เจ้านายในสมัยรัชกาลที่ ๔-๕ ต่างทรงปรับตัวให้ทันกระแสของโลก แฟชั่นสวมหมวกซึ่งเป็นตัวชี้วัดความเป็น “สุภาพบุรุษ” ของชาวตะวันตกในยุคนั้น จึงถูกราชสำนักสยามนำมาใช้เป็นเครื่องมือหนึ่งในการแสดงความ “ศิวิไลซ์”
และเป็นที่รู้กันว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรด “โบวเลอร์แฮ็ต” มาก ถึงแม้ว่าหมวกดังกล่าวจะเป็นที่นิยมในหมู่ชนชั้นกรรมาชีพชาวเมืองผู้ดีก็ตาม

เกี่ยวข้าวก็เย็นได้ ถ้าเข้าใจธรรมชาติ
“งอบ” ภูมิปัญญาเกษตรกรไทยไม่ว่าจะเกี่ยวข้าว พายเรือ หรือเมื่อต้องออกแดดทุกครั้งชาวนา แม่ค้า หรือคนไทยอย่างเราๆ ต่างก็ต้องพึ่งพาหมวกครอบจักรวาลใบนี้ ประดิษฐกรรมสวมหัวที่ชี้ให้เห็นว่าบรรพบุรุษของเราก็เป็นเลิศด้านวิศวกรรมศาสตร์ ในการสานงอบ ที่แสดงถึงความเข้าใจในหลักการระบายอากาศเป็นอย่างดี เป็นเทคนิคเดียวกับการปลูกเรือนให้อยู่สบายในสภาพอากาศร้อนและชื้น

ราวกับว่า “มาลา” จะ “นำไทย” สู่ความเป็นอารยะได้เช่นนั้นหรือ
การปฏิวัติขนาดใหญ่ เกิดขึ้นในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ท่านผู้นำเชื่อว่า การแต่งกายเยี่ยงตะวันตกนั้น จะเป็นหนทางหนึ่งในการนำชาติไทย รุดหน้าเช่นอารยธรรมประเทศ มีการออกกฎบังคับให้ประชาชนชาวไทย สวมหมวก ทุกคราวที่ออกจากบ้าน โดยมีการแต่งบทเพลงชักชวนให้คนไทยสวมหมวกอย่างเพลง ‘สวมหมวกไทย’ ขับร้องโดย 'มัณฑนา โมรากุล'

มงกุฎนางงาม สาวไทยในยุคสงครามเย็น
สถานะและบทบาทระหว่างสตรีกับการเมืองในสมัยทุนนิยมยุคสงครามเย็น ผ่านมงกุฎนางงามจักรวาลคนแรกของประเทศไทย อาภัสรา หงสกุล จนกลายเป็นกระแส “อาภัสราฟีเวอร์” ที่สาวไทยทั้งหลายอยากจะสวมมงกุฎเพื่อให้สวยอย่างอภัสรา ซึ่งเธอนั้นได้รับตำแหน่งมาพร้อมกับการยกพลขึ้นบกของกองทัพอเมริกาที่อู่ตะเภา ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างขั้วการเมืองทุนนิยมกับคอมมิวนิสต์ในสงครามเวียดนาม ในปีค.ศ.1965

Results 1 to 20 of 67