Showing 2179 results

Archival description
With digital objects
Print preview View:

สืบจากส้วม : กระจายเสียง กระจายส้วม

กระจายเสียง กระจายส้วม

ในยุคทหารอเมริกันยกพลขึ้นบก ราวปีพุทธศักราช 2500 การรณรงค์ให้ใช้ส้วมผ่านภาพยนตร์ได้ผลดีนัก เพราะเป็นของใหม่ที่ใครๆ ก็อยากชม และเนื้อหาที่ปรากฏในภาพยนตร์ยังเป็นสิ่งที่น่าเชื่อถืออีกด้วย

สื่อภาพยนตร์ในขณะนั้น ส่วนใหญ่ได้รับการสนับสนุนจาก “สำนักงานข่าวสารอเมริกา” ในบรรยากาศสงครามเย็นเป็นไปได้หรือไม่ว่า สื่อเหล่านี้คือ กลยุทธ์หนึ่งที่ประเทศสหรัฐอเมริกาใช้สร้างคะแนนเสียง ทิ้งห่างประเทสมหาอำนาจคู่แข่งอย่าง สหภาพโซเวียต

สืบจากส้วม : โลกของส้วม

ส้วมไม่ใช่เรื่อง “ขี้ ๆ” มาตั้งแต่มนุษย์เกิดมาเมื่อล้านปีที่แล้ว เพราะมนุษย์ทั้งโลกต่างคิดใคร่ครวญหาส้วมที่ “ดีที่สุด” มากำจัดอึ ก่อนที่อึจะย้อนมากำจัดเรา

คนไทยก็เหมือนกัน เรามีส้วมหลายแบบ ตั้งแต่การอึในทุ่งนาแบบใกล้ชิดธรรมชาติ การอึแบบลดกลิ่นโดยส้วมไฮเทคจากเมืองแขก หรือการอึแบบ “เทพ” ของชนชั้นปกครอง รวมไปถึงการอึใส่ถังสำหรับคนเมืองรุ่นแรกที่ยืมความคิดมาจากคนจีน ฯลฯ

ส้วมมากมายขนาดนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากไม่มีความหลากหลายของกลุ่มคนให้เราหยิบยืมความคิดมาปรับใช้และสูดดม

สืบจากส้วม : เปิดตัวเทศบาลเพื่อนยาก

เทศบาลเอ๋งกับเทศบาลอู๊ด
สำหรับคน “ไปทุ่ง” หรือคนที่คิดจะอึในบางมุมของเมือง ก่อนจะนั่งลงหย่อนต้องกวาดตาให้แน่ใจก่อนว่า ไม่มีเจ้าเพื่อนยากสี่ขาสองชนิด คือ น้องหมูและน้องหมา ที่อาจเข้ามารบกวนความสงบ เพราะ อึ คือ อาหารโปรดของมัน

เทศบาลใต้บาดาล
สำหรับคน “ไปท่า” และคนที่อยู่ในเรือนแพ น่าจะหาความสงบได้ง่ายหน่อยตรงที่เทศบาลอย่างปลาแขยงจะซุ่มคอย “เหยื่อ” อยู่ที่ผิวน้ำจนเมื่อ “อาหาร” ตกลงมานั่นแหละ มันจึงเริ่มปฏิบัติ “ตอด” แบบไม่ให้เหลือซากเหลือกลิ่นเลยทีเดียว

สืบจากส้วม : ส้วมเจ้ามาจากไหน

ส้วมเจ้ามาจากไหน

เมื่อเรารับแนวคิด “เทวราชา” จากความเชื่อฮินดูที่เชื่อว่า พระมหากษัตริย์คือ สมมุติเทพ มาใช้กับการปกครองบ้านเมืองของสยาม การปฏิบัติกับพระราชาจึงต้องกระทำด้วยความพิเศษ มีพิธีกรรมและพิธีรีตองมากมายเพื่อให้สมสถานะและพระเกียรติยศ ไม่เว้นแม้แต่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับสิ่งปฏิกูล เพราะถึงแม้จะเป็น อึ ก็เป็น “อึ” ของพระนารายณ์

อึ กับ พระราชา
อึ ในการรับรู้ของคนละกลุ่มย่อมแตกต่างกันไป สำหรับเจ้านายชั้นสูงและพระมหากษัตริย์แล้ว อึ ถือเป็นเรื่องอัปมงคล คติความเชื่อนี้สะท้อนให้เห็นในธรรมเนียมการปฏิบัติประการหนึ่ง คือ การที่พระมหากษัตริย์ทรงต้องผลัดผ้านุ่งลายสัตว์ป่าหิมพานต์เป็นผ้าชนิดอื่นก่อนเข้าห้องพระบังคน (ห้องน้ำ) เพราะถือกันว่าสัตว์ป่าหิมพานต์เป็นของศักดิ์สิทธิ์ตามคติเทวราชา หากต้องเข้าใกล้อึ ก็อาจทำให้เกิดความมัวหมอง

สืบจากส้วม : “นางใน” กับ “อุโมงค์”

”นางใน” กับ “อุโมงค์”

ในเขตพระราชฐานชั้นในของพระบรมมหาราชวัง มีข้าราชบริภารที่เป็นหญิง ซึ่งเรียกว่า “นางใน” อยู่เป็นจำนวนมาก ดังนั้น จึงต้องสร้างสถานที่ขับถ่ายไว้โดยเฉพาะ มีชื่อเรียกว่า “อุโมงค์” จากคำบอกเล่า มี 4 สมมุติฐาน เกี่ยวกับอุโมงค์ดังนี้

สมมติฐานที่ 1
สมัย ต้นรัตนโกสินทร์
ที่ตั้ง ริมแม่น้ำ นอกกำแพงวัง
ระบบที่ใช้ ถ่ายบนน้ำ

“อุโมงค์ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ซึ่งรื้อทิ้งไปแล้วนั้น ปลูกลงแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่ออกจากประตูวัง จะมีทางเดินเป็นกำแพงก่ออิฐถือปูนทึบไม่มีหน้าต่าง พุ่งยาวออกจากประตูวังไปโผล่แม่น้ำเจ้าพระยา รูปร่างอุโมงค์หรือเรือนถ่ายสมัยนั้นเป็นเรือนไม้หลังใหญ่ กั้นเป็นคอกๆ นั่งถ่ายได้ครั้งละหลายคน เพราะถ่ายลงในแม่น้ำ”

สมมติฐานที่ 2
สมัย ต้นรัตนโกสินทร์ ถึงรัชกาลที่ 5
ที่ตั้ง ระหว่างกำแพงวังชั้นในและชั้นนอก
ระบบที่ใช้ ถ่ายบนดิน

อุโมงค์สมัยต้นรัชกาลที่ 5 น่าจะตั้งอยู่ระหว่างกำแพงชั้นนอกกับชั้นในของพระบรมมหาราชวัง การไปอุโมงค์นั้น สาวชาววังจะใช้ประตูกำแพงชั้นในที่เจาะเฉพาะ มีโขลนหรือทหารหญิงเฝ้าทางเดินไปยังอุโมงค์เป็นทางฉนวน คือเป็นกำแพงสูงตลอดทั้งสองข้างป้องกันการหลบหนี ส่วนการขับถ่ายในอุโมงค์สมัยนี้ ควดว่าจะเป็นการนั่งถ่ายบนดิน

สมมติฐานที่ 3
สมัย รัชกาลที่ 5
ที่ตั้ง ภายในกำแพงวังชั้นในด้านทิศตะวันตก
ระบบที่ใช้ ถ่ายลงร่อง ด้านล่างเป็นท่อระบายออกแม่น้ำ

ในสมัยรัชกาลที่ 5 “ลักษณะอุโมงค์นี้เป็นอาคารชั้นเดียว ก่ออิฐถือปูนแบบโบราณหนาทึบ หลังคาเป็นรูปจั่วปูนปั้นเป็นแท่งตรงๆขึ้นไป เหมือนมีแต่กำแพงตั้งขึ้นไปรับ ตัวอาคารตั้งหันหลังแนบชิดอยู่กับแนวกำแพงพระราชบานชั้นกลางด้านทิศตะวันตก ทางใกล้ๆกับประตูศรีสุดาวงศ์ ค่อนข้างจะยาวและกว้างใหญ่พอที่จะรับรองผู้ต้องการมาใช้สถานที่เปลื้องทุกข์ได้พร้อมๆกัน คราวละหลายๆคน มีท่อสำหรับไขน้ำเข้าออก ให่ถ่ายเทสิ่งโสโครกลงไปตามท่ออุโมงค์ใต้พื้นดินลอดไปออกแม่น้ำได้ตลอดเวลา

สมมติฐานที่ 4
สมัย ปลายรัชกาลที่ 5
ที่ตั้ง ภายในกำแพงวังชั้นในด้านทิศตะวันตก
ระบบที่ใช้ ถ่ายลงถังเท

ต่อมาเพื่อความเหมาะสม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดให้สร้างอุโมงค์ใหญ่ คืออุโมงค์ที่บรรยายไว้ในเรื่องสี่แผ่นดิน เป็นสิ่งก่อสร้างลักษณะเป็นอุโมงค์ทึบพุ่งยาวออกจากกำแพงวังมีปากทางเข้า อยู่บริเวณริมกำแพงพระราชวังด้านใต้ ใกล้ประตุศรีสุดาวงศ์ อุโมงค์ที่สร้างในสมัยนี้จะมีถังตั้งไว้ข้างล่างตลอดแถว สำหรับรับอุจจาระ และจะมีผู้นำไปเทภายหลัง

สืบจากส้วม : ส้วมพระ มาจากไหน

ส้วมพระ มาจากไหน
ในสมัยสุโขทัย มีการเชื่อมสัมพันธ์ด้านพุทธศาสนากับลังกาอย่างใกล้ชิด ดังนั้น นอกจากหลักคำสอนแล้ว สุโขทัยยังรับ “กฎ กติกา มารยาท” และเทคโนโลยีในการขับถ่ายมาจากลังกาด้วย หนึ่งในนั้นก็ คือ “ถานพระ”

“ถานพระ” มีรูและร่อง ที่อยู่ในตำแหน่งเหมาะสม ช่วยแยกอุจจาระไม่ให้ปนกับปัสสาวะ เมื่ออุจจาระแห้งกลิ่นอันไม่พึงประสงค์ก็ลดลงไปอย่างมาก แต่เนื่องจากพื้นดินของประเทศไทยมีความชุ่มน้ำมาก ทำให้อุจจาระที่แม้ไม่เปียกด้วยปัสสาวะ ก็ต้องมาเปียกด้วยน้ำในหลุมดินอยู่ดี ถานพระชนิดนี้จึงไม่เป็นที่นิยมนักในดินแดนประเทศไทย

“เว็จ”
พระสงฆ์ มีคำเรียกสถานที่ขับถ่ายโดยเฉพาะ คือ “เว็จ” มาจากภาษาบาลี-สันสกฤตในคำว่า “วจฺจกุฏิ” ซึ่งหมายถึงสถานที่ขับถ่ายของสงฆ์ในวัด ต่อมาคำว่า “วจฺจ” แผลงเป็น “เว็จ” และใช้ในความหมายที่กว้างขึ้น หมายถึงส้วมโดยทั่วไป

สืบจากส้วม : ชนชั้นสูง

ชนชั้นสูง : หน้าด่านของความศิวิไลซ์

ในสมัยรัชกาลที่ 5 การทำบ้านเมืองให้มี “ความศิวิไลซ์” เป็นภารกิจสำคัญประการหนึ่ง เพื่อหลีกเลี่ยงข้อดูหมิ่นที่ชาติตะวันตกอาจใช้เป็นข้าอ้างในการคุกคามล่าอาณานิคม ชนชั้นสูงในสมัยนั้นจึงเป็นคนกลุ่มแรกที่จะต้องเรียนรู้การใช้ชีวิตอย่างมี “อารยธรรม” ในทุกด้าน ไม่เว้นแต่เรื่องส่วนตัวในห้องน้ำ

ห้องน้ำของเจ้านายในสมัยนั้น เรื่อยต่อมาจนถึงรัชกาลที่ 6 จึงคลาคล่ำไปด้วยเครื่องใช้แบบตะวันตก เช่น อ่างอาบน้ำ ฝักบัว รวมไปถึงชุดเครื่องสุขภัณฑ์แบบใหม่ๆ ที่นำเข้าจากต่างประเทศ อาทิ โถชักโครก บิเดต์ หรือจากุซซี่

เล่ากันว่า บางครั้ง “ของนอก” เหล่านี้ไม่ได้ถูกนำมาใช้จริงเท่าใดนัก เพราะเจ้านายบางพระองค์ยังคงโปรดปฏิบัติพระกิจวัตรแบบเดิม แต่ที่ต้องซื้อหามาไว้ ก็เพียงเพื่อเป็นเครื่องประดับที่แสดงถึงความมีอารยะ เท่านั้นเอง

ชาวนานักค้นคว้าแห่งท้องทุ่ง : ปฏิทินชาวนา

23 เมษายน
บวงสรวงเจ้าที่ไหว้แม่พระธรณี ปรับพื้นที่ทำแปลงนา ฝนเริ่มตกชาวนาเตรียมดินด้วยการไถดะ เพื่อพลิกหน้าดิน แล้วไถแปรเพื่อกำจัดวัชพืชด้วยเครื่องมือต่างๆ เช่น ไถ คราด จอบ เสียม

1 พฤษภาคม
เริ่มเพาะต้นกล้า ในเดือนนี้มีการประกอบพิธีกรรมหลายพิธี เช่น พิธีขอฝนในภาคต่างๆ พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นต้น

12 พฤษภาคม
ดำนา หลังจากเตรียมดิน และเตรียมต้นกล้าประมาณ 18-20 วัน แล้วชวนกันลงแขกดำนา

5-30 กรกฎาคม
เลี้ยงดูต้นข้าว ช่วงนี้ชาวนาผู้จัดการความสมดุลของห่วงโซ่อาหาร คอยไขน้ำเข้าไขน้ำออกหลอกให้ข้าวโต บำรุงรักษาและกำจัดวัชพืช โรคและแมลงต่างๆ

12 สิงหาคม
ข้าวเริ่มตั้งท้อง มีการทำบุญสารทไทย ทำพิธีกรรมรับขวัญข้าว ไหว้พระแม่โพสพ ด้วยการถวายของและดอกไม้

28 สิงหาคม
เกี่ยวข้าว ข้าวเริ่มสุกได้เวลาเก็บเกี่ยว

2-3 กันยายน
ยาลานข้าวด้วยซีเมนต์พื้นบ้าน ย่ำขี้ควายทำซีเมนต์พื้นบ้าน ลงมือทำลานข้าว และเตรียมพิธีกรรมทำขวัญข้าวในลานนวดข้าว

11 กันยายน
นวดข้าว เอาเปลือกใส่ยุ้ง มีการทำขวัญข้าวเข้ายุ้ง พิธีเปิดยุ้ง ปิดยุ้ง

17 กันยายน
ตำข้าว สีข้าว สำหรับแปรรูปเปลี่ยนร่างเมล็ดข้าวเป็นอาหารต่างๆ

ชาวนานักค้นคว้าแห่งท้องทุ่ง : ชาวนา = นักฟิสิกส์ ประดิษฐ์ คิดเอง จนถูกใจ

ชาวนามีเครื่องมือ เทคนิค และเคล็ดลับมากมายเพื่อให้ใช้แรงงานและเวลาอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ตั้งแต่เรื่องง่ายๆ ไปจนถึงเครื่องมือที่ใช้ทฤษฎีฟิสิกส์ต่าง

ชาวนานักค้นคว้าแห่งท้องทุ่ง : สูตรปรุงดิน

สูตรปรุงดิน ฉบับ ฟางไถกลบ

สูตรนี้เริ่มด้วยการ ไถกลบฟางข้าว เพราะฟางข้าวก็คือต้นข้าวรุ่นพี่ที่ให้ผลผลิตไปแล้วและย่อมดูดซับสารอาหารที่จำเป็นสำหรับข้าวเอาไว้แล้ว วิธีการไม่ยุ่งยาก แค่ปล่อยน้ำเข้านาที่เก็บเกี่ยวแล้ว เหยาะจุลินทรีย์นิด ใส่ปุ๋ยขี้หมูอีกหน่อย เพื่อเร่งให้ฟางเปื่อยและสร้างแร่ธาตุ แล้วก็ไถพริกดินขึ้นมาคลุกเคล้ากัน เท่านี้ข้าวก็มีอาหารอร่อยๆกินแล้ว เริ่มปลูกข้าวได้ จากนั้นก็แค่คอยดูคอยเติม ตรงไหนข้าวไม่สวยก็ฉีดปุ๋ยจากขี้สัตว์ต่างๆ หรือแร่หิน ต่างคนก็ต่างสูตรกันไปแล้วแต่ของที่หาได้ในพื้นที่

สูตรน้ำจุลินทรีย์ ซอสปรุงดินแสนอร่อย

น้ำจุลินทรีย์ คือน้ำที่เต็มไปด้วยจุลินทรีย์ที่ช่วยย่อยซากพืชซากสัตว์ให้กลายเป็นปุ๋ยได้อย่างรวดเร็ว ทำมาจากการนำดินจากป่าที่สมบูรณ์ที่อุดมไปด้วยจุลินทรีย์มาเลี้ยงให้เพิ่มจำนวนด้วยการหมักกับกากน้ำตาลและรำข้าว ไว้ 2-4 สัปดาห์ ก็สามารถใช้งานได้

  • หัวเชื้อจุลินทรีย์ 100 ซีซี
  • น้ำ 15 ลิตร
  • กากน้ำตาล 1 กิโลกรัม
  • รำข้าว 150 กรัม

ชาวนานักค้นคว้าแห่งท้องทุ่ง : ชาวนา = นักชีววิทยา ผู้จัดการความสมดุลของห่วงโซ่อาหาร

ชาวนาผู้ช่ำชองจะรู้ว่า ไม่มีอะไรจะช่วยให้ข้าวเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนได้ดีไปกว่าระบบนิเวศที่สมดุล สิ่งมีชีวิตทั้งหลายในแปลงนาล้วนพึ่งพาอาศัยและควบคุมซึ่งกันและกัน ถ้าเราลำเอียงเร่งเลี้ยงข้าวให้โตอย่างเดียวโดยไม่แยแสสิ่งมีชีวิตอื่น ท้ายที่สุดข้าวและเราก็จะอยู่ไม่ได้ ชาวนาจึงมีหน้าที่เรียนรู้ธรรมชาติและคิดหากลยุทธ์ปลูกข้าวที่รักษาระบบนิเวศ เพื่อให้พลังแห่งความสมดุลเลี้ยงดูข้าวจนเติบโต
รู้จักเมนูโปรดของทุกสรรพสิ่ง

ชาวนาช่างสังเกตจะรู้ใจสัตว์ว่าตัวไหนชอบกินอะไร หากสัตว์ชนิดใดมีจำนวนมากเกินพอดี ก็จะต้องหาสัตว์ชนิดอื่นที่ชอบกิน หรือเป็นที่น่ากลัวของสัตว์ชนิดแรกมาอยู่ด้วย ตัวอย่างกลยุทธ์อันเหนือชั้นทำให้ระบบนิเวศทำงานแทนเรา

ตัวห้ำเบียน ซุปเปอร์แมงของชาวนา

ตัวห้ำ คือ แมลงที่กินแมลงอื่นเป็นอาหาร ส่วนตัวเบียนคือแมลงที่วางไข่ในแมลงตัวอื่น ไม่ว่าจะเป็นในไข่ ในตัวอ่อน หรือตัวโตเต็มวัย แมลงทั้งสองชนิดช่วยควบคุมปริมาณของแมลงที่ทำลายข้าว ไม่ให้มีมากจนเกินไป

ชาวนานักค้นคว้าแห่งท้องทุ่ง : ข้าวป่า

ข้าวป่า เป็นข้าวที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ โดยทั่วไปจะพบเห็นในลำคลองข้าง ๆ ทาง ในแอ่งน้ำริมแปลงข้าวปลูกหรือในแปลงข้าวปลูก ชื่อข้าวป่าอาจถูกเรียกแตกต่างกันไป เช่น ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียกว่า หญ้าข้าวนก ภาคกลางเรียกข้าวละมาร หรือ หญ้าละมาน เป็นต้น

จากข้าวป่าที่สำรวจพบทั่วโลก 21 ชนิด พบว่า มีในประเทศไทย อย่างน้อย 5 ชนิด ข้าวป่าบางชนิดเป็นบรรพบุรุษของข้าวปลูกและมีความหลากหลายทางพันธุกรรมสูง ปัจจุบัน มีการนำข้าวป่ามาทำประโยชน์น้อยมาก เนื่องจากยังมีข้อมูลไม่เพียงพอ สาเหตุจากมนุษย์ให้ความสำคัญต่อความหลากหลายทางชีวภาพน้อยเกินไป ข้าวป่าเหล่านี้ใกล้จะสูญพันธุ์อันเนื่องมาจากการพัฒนาประเทศ การขยายเมือง สร้างถนน สร้างเขื่อน ตลอดจนการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการเพิ่มผลผลิตพืช

ชาวนานักค้นคว้าแห่งท้องทุ่ง : คันไถ

คันไถ

ใช้เตรียมดินก่อนเริ่มทำนา คันไถทำจากไม้จริง มีขนาดและความคดโค้งต่างกันไปตามความถนัดของคนใช้ ตรงกลาของคันไถจะเชื่อมติดกับ “ฮากไถ” หรือก้านไม้ที่ใช้ต่อกับเชือกแอกควาย เพื่อให้ควายช่วยลากคันไถไปข้างหน้า ในขณะที่คนจะจับปลายไถด้านบน กดตัวคันไถที่เป็นคานลงให้ “หัวหมู” ที่ติดอยู่ที่ปลายด้านล่างแซะดินขึ้นมา ช่วยเปิดหน้าดิน พรวนดิน

“หัวหมู” จะมีปลายแหลม ลำตัวโค้งไปข้างใดข้างหนึ่งเพื่อให้เวลาแซะดินขึ้นแล้วดินจะพลิกไปด้านข้าง นอกจากนี้หากลำตัวของหัวหมูแบนราบไปกับพื้นดิน จะไปกดดินให้แน่นทำให้ข้าวแทงรากได้ยาก

ชาวนานักค้นคว้าแห่งท้องทุ่ง : ครกกระเดื่อง และโชงโลง

ครกกระเดื่อง

ใช้ตำข้าวให้เปลือกหลุดออกเป็นข้าวสาร ครกกระเดื่องเป็นการนำหลักการทำงานของคานมาช่วยทุ่นแรงในการตำข้าวเปลือกให้กลายเป็นข้าวสาร การใช้หลัก “คานยก” ช่วยให้เราออกแรงน้อยลง และแทนที่จะใช้มือยกสากตำก็ใช้เท้าเหยียบที่ปลายด้านหนึ่งของคาน จุดหมุนจะช่วยยกปลายอีกข้างที่มีสากติดอยู่ เมื่อยกเท้าออกสากจะถูกปล่อยลงมาตำข้าวในครก

โชงโลง

เป็นเครื่องทุ่นแรงในการวิดน้ำเข้านาระหว่างพื้นที่ระดับใกล้ๆกัน เวลาใช้จะดึงด้ามเข้าหาตัวก่อน โดยใช้มือหนึ่งเป็นตัวค้ำ (จุดหมุน) ทำให้ด้ามเป็นคานกดกระบวยให้วิดน้ำ ก่อนดันด้ามไปให้สุดเชือกเพื่อเสือกน้ำเข้านา เหมือนการใช้พลั่วตักดิน หากแต่โชงโลงมีเชือกช่วยรับน้ำหนักไว้เหมือนลูกตุ้มที่ตัวลูกตุ้มเป็นคานนั่นเอง

ชาวนานักค้นคว้าแห่งท้องทุ่ง : สูตรปรุงยา

สูตรปรุงยา

ยาที่ข้าวต้องการมีสองประเภทใหญ่ๆ คือ “ยาบำรุง” และ “ยาป้องกันโรคและแมลง” โดยแทบจะไม่ต้องการยารักษาโรคเลยเพราะเมื่อเราบำรุงข้าวให้แข็งแรงตั้งแต่แรก ข้าวก็จะไม่เป็นโรคมาก ยาบำรุงนั้นจะทำจากของน่ากินทั้งนั้น อย่างไข่ไก่ นม กากน้ำตาล หรือแม้แต่นมเปรี้ยว ส่วนยาป้องกันโรคและแมลงก็จะเป็นของที่ไม่ค่อยอร่อยแต่มีประโยชน์อย่างพืชผักสมุนไพร หรือของที่มีพิษไปเลย เช่น เชื้อราต่างๆ ที่ช่วยฆ่าหนอนและแมลงได้ดี

ฮอร์โมนสูตรนมสด

  • นมพาสเจอร์ไรซ์ 5 ลิตร
  • กากน้ำตาล 3 กิโลกรัม
  • ลูกแป้งข้าวหมาก 1 ลูก
  • นมเปรี้ยวบีทาเก้น 1 ขวด (ขนาด 15 บาท)

หมักประมาณสามวันจนมีกลิ่นหอม แล้วกรองเอาแต่น้ำ 70 ซีซี ต่อน้ำเปล่า 20 ลิตร ใช้ฉีดบำรุงข้าวเมื่อเริ่มแตกกอ

ชาวนานักค้นคว้าแห่งท้องทุ่ง : ชาวนา = นักพันธุกรรมศาสตร์ ผู้ปลุกปั้นดีเอ็นเอข้าว

คัด + ผสม = ข้าว x 1000d จะปลูกข้าวทั้งที เมล็ดพันธุ์ที่ใช้ก็ต้องเจ๋งจริงๆ ชาวนาให้ความสำคัญในการเลือกเฟ้นพันธุ์ข้าวที่เหมาะกับผืนนาของตน เพื่อให้ได้ผลผลิตที่สูง ปลูกง่าย รวมถึงยังต้องเก็บสต็อกข้าวไว้หลายๆพันธุ์ เผื่อเอาไว้ปลูกในกรณีฉุกเฉินที่สภาพธรรมชาติเปลี่ยนแปลงไปมาก เป็นการลดความเสี่ยง และเพิ่มความมั่นคงทางอาหารให้แก่ชาวโลก

นอกจากนี้ ชาวนายังเป็น “นักพันธุ์กรรมศาสตร์” อีกด้วย เพราะข้าวที่ปลูกจะค่อยๆกลายพันธุ์ไป จึงต้องทำการปรับปรุงสายพันธุ์ โดยเลือกเอาข้อเด่นของข้าวแต่ละพันธุ์มาผสมกันและปลูกในแปลงทดลอง จากนั้นคัดเฉพาะต้นที่ให้ลักษณะตรงตามความต้องการ มาปลูกซ้ำอีกแปดรอบ เพื่อให้ได้ข้าวพันธุ์แท้ ก่อนนำไปปลูกจริง

ชาวนานักค้นคว้าแห่งท้องทุ่ง : มหัศจรรย์พันธุ์ข้าว

รู้ไหมว่า คนรุ่นก่อนคิดค้นพันธุ์ไว้ให้เรากว่า 60,000 ชนิด ชาวนาใช้พันธุ์ข้าวมหาศาลนี้อย่างชาญฉลาด ชาวนาหนึ่งคนอาจปลูกข้าวหลายพันธุ์ในคราวเดียวกัน เพราะนาหนึ่งผืน มีพื้นที่หลายลักษณะ แถมข้าวจะออกรวงไม่พร้อมกัน ทำให้ทยอยเกี่ยวทีละแปลงได้ทันก่อนข้าวจะล้ม นอกจากนี้ชาวนาจะเปลี่ยนพันธุ์ข้าวที่ปลูกบ้างเพื่อลดการสะสมของโรคระบาด ผลพลอยได้ท้ายที่สุดจะอยู่ที่คนกินข้าว เพราะข้าวต่างพันธุ์ก็ให้สารอาหารต่างกัน ยิ่งกินข้าวหลากหลาย ก็ยิงแข็งแรง

ชาวนานักค้นคว้าแห่งท้องทุ่ง : ล้อเกวียน และระหัดชกมวย

ล้อเกวียน

ใช้ในการขนย้ายข้าวทีละมากๆ เราจำเป็นต้องใช้เกวียน และส่วนสำคัญของเกวียนก็คือล้อ ลองคิดดูสิถ้าหากโลกเราไม่มีล้อ เราคงมีชีวิตที่ลำบากกว่านี้เยอะ เพราะล้อหรือการหมุนถูกนำไปใช้ขับเคลื่อนพาหนะ ไปเป็นกลไกในเครื่องจักร เช่น เฟืองและรอก เป็นแป้นหมุนปั้นภาชนะ ฯลฯ การค้นพบล้อถือเป็นวิวัฒนาการที่ก้าวกระโดดของมนุษยชาติเลยทีเดียว และเกิดขึ้นในทุกอารยธรรมทั่วโลก

ระหัดชกมวย

ใช้วิดน้ำจากที่ต่ำขึ้นที่สูง เราต้องใช้ระหัดที่มีความยาวพาดจากที่นาไปยังแหล่งน้ำ มีเฟืองหมุนอยู่ที่ปลายทั้งสองข้างของระหัด เฟืองที่อยู่ด้านบนจะมีขนาดใหญ่กว่าเพื่อเพิ่มความเร็วรอบเฟือง และมีด้านมือชกต่อออกมาเพื่อใช้มือจับหมุน เมื่อหมุนเฟืองก็จะไปหมุนโซ่ที่ติดกับใบพัด ที่พาดผ่านเฟืองทั้งสองใบพัดจะช่วยวิดน้ำเข้ามา ในกรณีที่ระหัดชันหรือยาวมากทำให้ต้องใช้แรงหมุนมาก ชาวนาจะเปลี่ยนจากมือหมุนเป็นเครื่องถีบ คล้ายๆบันไดจักรยาน

Results 81 to 100 of 2179