Showing 67 results

คำอธิบายจดหมายเหตุ
ระดับชุด
Print preview View:

นิทรรศการ ชุด River of Life

การบินไทยและสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ ร่วมจัดนิทรรศการ River of Life นิทรรศการนี้นำเสนอเรื่องราวความสำคัญของแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีความผูกพันธ์ใกล้ชิดกับคนไทยมาช้านาน และเป็นแม่น้ำสายน้ำสำคัญแห่งประวัติศาสตร์ชาติไทย

นิทรรศการ ชุด กินของเน่า (พ.ศ. 2555) 10 กรกฎาคม - 4 พฤศจิกายน 2012 (ปิดวันจันทร์)

นิทรรศการชั่วคราวเรื่อง “กินของเน่า”
เพื่อนำเสนอเรื่องราวของการถนอมอาหารสำหรับการบริโภคที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณและยังสืบทอดถึงปัจจุบัน
วัฒนธรรมการกิน “ของเน่า” นั้น เป็นการใช้ความรู้และภูมิปัญญาในการถนอมอาหารผู้คนในสมัยก่อนค้นพบวิธีการนำวัตถุดิบรอบตัวจำพวก เกลือ ข้าว น้ำตาลบวกกับความช่างคิดช่างสังเกต และทดลอง จนเป็นอาหารที่มีรสชาติอร่อยกลมกล่อม ทั้งกะปิ ปลาร้า น้ำปลา
ปลาส้ม ถั่วเน่า และผักดองนานาชนิด
การกิน “ของเน่า” มีอยู่ทั่วโลก แต่รูปร่างหน้าตา กลิ่น และรสชาติแตกต่างกันออกไป
ตามวัตถุดิบและภูมิศาสตร์ นอกจากนิยมบริโภคกันแล้ว ยังมีการใช้ของเน่าในพิธีกรรมทางศาสนาและกิจกรรมสำคัญๆ
อีกด้วย

นิทรรศการ ชุด เรื่องหนักหัว (พ.ศ. 2555)

เรื่องหนักหัว
มิวเซียมสยาม สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ จัดนิทรรศการชั่วคราว "เรื่องหนักหัว" เพื่อเปิดมุมมองใหม่และค้นหาตัวตนของคนไทย นำเสนอเรื่องราวของ "หมวก" เครื่องศิราภรณ์" และ "เครื่องประกอบศีรษะ" เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวและความเป็นมาของผู้คนที่อาศัยอยู่ในดินแดนสุวรรณภูมิ ผ่านหมวกมากมายหลากหลายชนิดที่ถูกนำไปสวมใส่อยู่บนหัว ซึ่งล้วนแต่มีบทบาทและความสำคัญในแง่มุมต่างๆ ทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง โดยนิทรรศการ "เรื่องหนักหัว" เป็นนิทรรศการรูปแบบใหม่ ที่จะแทรกเข้าไปอยู่ในนิทรรศการถาวร "เรียงความประเทศไทย" ตามห้องต่างๆ ภายในมิวเซียมสยามอย่างกลมกลืน และสอดคล้องกับช่วงยุคสมัยนั้น
ห้องเปิดตำนานสุวรรณภูมิ
นำเสนอเรื่องของ “หน้ากาก ตัวแทนแห่งผีและพิธีศักดิ์สิทธิ์” ที่ใช้ในพิธีกรรมขอฝนของคนยุคก่อน เป็นพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้อ้อนวอนธรรมชาติ ให้ช่วยดลบันดาลความอุดมสมบูรณ์ เพราะพวกเขารู้จักการทำนาปลูกข้าวและเริ่มตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชน ภาพเขียนสีบนผนังถ้ำที่พบได้ในสถานที่ต่างๆ ในประเทศไทย รวมไปถึงหน้ากากที่ใช้ในพิธีกรรมที่ยังคงมีการปฏิบัติสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน เช่น การละเล่นผีตาโขน จังหวัดเลย และพิธีกรรมเต้นรำใส่หน้ากากของชนเผ่าในเกาะบอร์เนียว ประเทศอินโดนีเซีย
หมวกทวาฯ นานาชาติ
สมัยทวารวดี นิทรรศการได้นำเสนอ “หัวปูนปั้นประดับฐานสถูป” โดยใช้ชื่อเรื่องว่า “หมวกทวาฯ นานาชาติ” ที่พบในเมืองโบราณแห่งต่างๆ ซึ่งเป็นยุคที่ประเทศอินเดียมีอิทธิพลอย่างมากไม่ว่าจะเป็นเรื่องศาสนา การค้าขาย และเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ราชสำนักไทยสยามก็มี “ขันที” ขุนนางในสมัยอยุธยาสวม “หมวกเครื่องแบบ” ชนิดหนึ่ง ที่เรียกว่า “ลอมพอก” คาดว่าได้รับอิทธิพลมาจากขันทีชาวเปอร์เซียที่เคยเข้ามาปฏิบัติงานในราชสำนักฝ่ายใน ด้วยรูปทรงที่แปลกตาจึงเป็นทอล์คออฟเดอะทาวน์ ปัจจุบันเรายังคงได้เห็น “พระยาแรกนา” ใส่ลอมพอกในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญหรือแม้แต่นาคก็ใส่เข้าพิธีบรรพชา

ชฎากับอัตลักษณ์ของความเป็นไทย
ค้นหาคำตอบว่าชฎาเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นไทยจริงหรือไม่ รวมไปถึงเรื่องราวของ “เลดี้กาก้า” กับชฎาที่ตกเป็นข่าว ที่ใส่โชว์บนคอนเสิร์ตในประเทศไทย ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังเป็นที่ถกเถียงในวงกว้าง ถึงความเหมาะสมถูก-ผิดกันต่อไป
ในตอนนี้จะมีสักกี่คนสำนึกรู้ว่า“ชฎา”คือสิ่งที่ถูกใช้เป็นตัวแทนสถาบันพระมหากษัตริย์ และใช้ในการแสดงมหรสพทางประเพณีไทยมาช้านาน นั่นเท่ากับว่ามูลค่าแห่งความสำคัญของชฎา มิใช่เพียงเครื่องแสดงอัตลักษณ์ แต่มันคือวัฒนธรรมอันล้ำค่าของคนไทย

สุภาพบุรุษชาวสยามกับความศิวิไลซ์
การเข้ามาของ “ฝรั่ง” นักล่าอาณานิคมจากประเทศยุโรป ทำให้สยามต้องเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เจ้านายในสมัยรัชกาลที่ ๔-๕ ต่างทรงปรับตัวให้ทันกระแสของโลก แฟชั่นสวมหมวกซึ่งเป็นตัวชี้วัดความเป็น “สุภาพบุรุษ” ของชาวตะวันตกในยุคนั้น จึงถูกราชสำนักสยามนำมาใช้เป็นเครื่องมือหนึ่งในการแสดงความ “ศิวิไลซ์”
และเป็นที่รู้กันว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรด “โบวเลอร์แฮ็ต” มาก ถึงแม้ว่าหมวกดังกล่าวจะเป็นที่นิยมในหมู่ชนชั้นกรรมาชีพชาวเมืองผู้ดีก็ตาม

เกี่ยวข้าวก็เย็นได้ ถ้าเข้าใจธรรมชาติ
“งอบ” ภูมิปัญญาเกษตรกรไทยไม่ว่าจะเกี่ยวข้าว พายเรือ หรือเมื่อต้องออกแดดทุกครั้งชาวนา แม่ค้า หรือคนไทยอย่างเราๆ ต่างก็ต้องพึ่งพาหมวกครอบจักรวาลใบนี้ ประดิษฐกรรมสวมหัวที่ชี้ให้เห็นว่าบรรพบุรุษของเราก็เป็นเลิศด้านวิศวกรรมศาสตร์ ในการสานงอบ ที่แสดงถึงความเข้าใจในหลักการระบายอากาศเป็นอย่างดี เป็นเทคนิคเดียวกับการปลูกเรือนให้อยู่สบายในสภาพอากาศร้อนและชื้น

ราวกับว่า “มาลา” จะ “นำไทย” สู่ความเป็นอารยะได้เช่นนั้นหรือ
การปฏิวัติขนาดใหญ่ เกิดขึ้นในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ท่านผู้นำเชื่อว่า การแต่งกายเยี่ยงตะวันตกนั้น จะเป็นหนทางหนึ่งในการนำชาติไทย รุดหน้าเช่นอารยธรรมประเทศ มีการออกกฎบังคับให้ประชาชนชาวไทย สวมหมวก ทุกคราวที่ออกจากบ้าน โดยมีการแต่งบทเพลงชักชวนให้คนไทยสวมหมวกอย่างเพลง ‘สวมหมวกไทย’ ขับร้องโดย 'มัณฑนา โมรากุล'

มงกุฎนางงาม สาวไทยในยุคสงครามเย็น
สถานะและบทบาทระหว่างสตรีกับการเมืองในสมัยทุนนิยมยุคสงครามเย็น ผ่านมงกุฎนางงามจักรวาลคนแรกของประเทศไทย อาภัสรา หงสกุล จนกลายเป็นกระแส “อาภัสราฟีเวอร์” ที่สาวไทยทั้งหลายอยากจะสวมมงกุฎเพื่อให้สวยอย่างอภัสรา ซึ่งเธอนั้นได้รับตำแหน่งมาพร้อมกับการยกพลขึ้นบกของกองทัพอเมริกาที่อู่ตะเภา ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างขั้วการเมืองทุนนิยมกับคอมมิวนิสต์ในสงครามเวียดนาม ในปีค.ศ.1965

นิทรรศการ ชุด ปริศนาแห่งลูกปัด (พ.ศ. 2551)

เรียนรู้เรื่องราว ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมผ่านลูกปัดเม็ดจิ๋ว ที่ไขความลับของมวลมนุษยชาติ

ไม่ระบุชื่อเรื่อง

นิทรรศการ ชุด หวยแหลก! แตกประเด็น คนเล่นหวย

นิทรรศการจะบอกเล่ากำเนิดความเป็นมาของหวย ลอตเตอรี่ และสลากกินแบ่ง บอกเล่ากลไกขององค์ประกอบด้านต่างๆ ของระบบ ตั้งแต่ ด้านพ่อค้าคนกลาง ยี่ปั๊ว หรือเสือกองสลากในอดีต ที่เป็นผู้กำหนดตลาดของสลากกินแบ่ง รวมไปถึงมีส่วนสำคัญมากในการจำหน่ายสลากด้านกลุ่มผู้ค้าเร่

ไม่ระบุชื่อเรื่อง

นิทรรศการ ชุด พระนคร

นิทรรศการหมุนเวียน ชุด พระนคร “สามยอด-วังบูรพา-พาหุรัด” ก้าวย่างบนเส้นทางอย่างตะวันตก นิทรรศการหมุนเวียนชุดใหม่จาก มิวเซียมสยาม ที่พาทุกคนไปรู้จักกับย่าน “สามยอด-วังบูรพา-พาหุรัด” ที่ในอดีต ที่เคยได้ชื่อว่าเป็น “ศูนย์กลาง” แห่งใหม่ของพระนคร ในช่วงที่อาณาจักรสยามต้องเผชิญหน้ากับการคุกคามจากโลกตะวันตก พื้นที่แห่งนี้จึงเปรียบเหมือนสถานบ่มเพาะการปรับตัวสู่โลกสมัยใหม่ ให้สยามอยู่รอดและผสานรอยต่อ พร้อมเข้าสู่สังคมตะวันตกอย่างเต็มตัวเช่นในปัจจุบัน

นิทรรศการแบ่งออกเป็น 7 โซน ประกอบด้วย

โซนที่ 1 : มีอะไรในแผนที่
บอกเล่าเรื่องราวความเปลี่ยนแปลงและวิวัฒนาการของย่านการค้าแห่งนี้ นับตั้งแต่ถนนเจริญกรุงตัดขึ้นมาในสมัยรัชกาลที่ 4 ความเปลี่ยนแปลงของเมืองบางกอกที่เชื่อมโยงถนนสายต่าง ๆ เชื่อมผู้คนจากต่างถิ่นให้เข้ามาหากัน ผ่านเทคนิคการ Mapping

โซนที่ 2 : ช่างฝรั่ง กับวังสยาม
โซนที่จะพาผู้ชมไปรู้จักกับ “ช่างฝรั่ง” นายโจอาคิม แกรซี เบื้องหลังงานออกแบบของสถาปัตยกรรมและสิ่งก่อสร้างในย่านนี้ ที่พลิกพระนครให้เป็นฝรั่งได้ด้วยสายตา

โซนที่ 3 : ช่างฝรั่ง โรงชักรูป
การเข้ามาของช่างชักรูปชาวต่างชาติ ที่หมุนเวียนกันเข้ามาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ก่อให้เกิดกระแสของการบันทึกภาพของชนชั้นนำชาวสยามและการถือกำเนิดขึ้นของสตูดิโอชักภาพในตำนานห้างโรเบิร์ต เลนซ์

โซนที่ 4 : หมอยาฝรั่ง ห้างบีกริม
บอกเล่าเรื่องราวของห้างสุดโอ่อ่า ที่ตั้งอยู่ตรงหัวมุมย่านประตูสามยอด ภายใต้การดูแลหมอยาฝรั่ง นายอดอล์ฟ ลิงค์ ได้นำพาสินค้านานาชนิดมาสู่พระนคร พร้อมการเกิดขึ้นของ “ร้านขายยาสยาม” และต้นกำเนิดของย่านขายเครื่องจักร, กล้อง และปืน

โซนที่ 5 : ห้างสรรพสินค้า พ่อค้านานาชาติ
จุดเริ่มต้นของห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้น ราวปลายรัชกาลที่ 6 คือ ช่วงเวลาเดียวกันของกระแส “เห่อของนอก” จากการหลั่งไหลเข้ามาของสินค้านานาชาติทั้งจีน, ฝรั่ง, แขกมุสลิมดาวูดี โบห์รา และแขกสิกข์ขายผ้า เข้ามาขายในพระนครจนติดอกติดใจชาวสยาม

โซนที่ 6 : มหรสพฝรั่ง โรงหนังนำสมัย
เรื่องราวของรูปแบบความบันเทิงจากตะวันตก ที่เข้ามามีอิทธิพลกับชีวิตของชาวพระนคร ให้เรียนรู้เรื่องฝรั่ง และความเป็นไปของโลกผ่านภาพยนตร์

โซนที่ 7 : ก้าวย่างอย่าง “สามยอด”
การมาถึงของรถไฟฟ้ามหานคร (MRT) กับเรื่องราวบทต่อไปของย่านนี้ กับความเปลี่ยนแปลงใหญ่อีกครั้ง “สามยอด-วังบูรพา-พาหุรัด”

นิทรรศการ ชุด พระนคร "สามยอด-วังบูรพา-พาหุรัด" ประกอบด้วย 1. พระนคร ON POSTCARD 2. พระนคร ON FOOT 3. พระนคร ON THE MOVE เปิดให้เข้าชมระหว่างวันที่ 5 พฤศจิกายน 2562 ถึง 1 มีนาคม 2563 เวลา 10.00 - 18.00 น. ณ อาคารอเนกประสงค์ มิวเซียมสยาม

ไม่ระบุชื่อเรื่อง

นิทรรศการ ชุด หวยแหลก! แตกประเด็น คนเล่นหวย

นิทรรศการหมุนเวียน ชุด "หวยแหลก! แตกประเด็น คนเล่นหวย" บอกเล่ากำเนิดความเป็นมาของหวย ลอตเตอรี่ และสลากกินแบ่ง บอกเล่ากลไกขององค์ประกอบด้านต่างๆ ของระบบ ตั้งแต่ด้านพ่อค้าคนกลาง ยี่ปั๊ว หรือเสือกองสลากในอดีตที่เป็นผู้กำหนดตลาดของสลากกินแบ่ง รวมไปถึงการจำหน่ายสลากกินแบ่ง

ประเด็นที่หนึ่ง : เริ่มจากการเรียนรู้กำเนิดความเป็นมาของหวย ก ข ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ในยุคที่เกิดข้าวยากหมากแพง เงินจากหวย ก ข จำนวนมากส่งเข้าหลวงสามารถช่วยให้เศรษฐกิจของสยามดีขึ้นและเป็นเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของสยามต่อเนื่องมาจนกระทั่งถูกยกเลิกในสมัยรัชกาลที่ 6 ส่วนลอตเตอรี่ เป็นการเสี่ยงโชคใหม่ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้นายเฮนรี่ อาลาบาศเตอร์ ออกรางวัลเพื่อระดมเงินทุนให้กับบรรดาพ่อค้าที่นำสินค้ามาจัดแสดงในการจัดพิพิธภัณฑ์ที่ตึกคองคอเดียในพระบรมมหาราชวัง การระดมทุนโดยออกลอตเตอรี่ ได้ปรับเปลี่ยนวิธีการและรูปแบบมาเรื่อย จนกลายเป็นสลากกินแบ่งรัฐบาลที่สร้างรายได้ให้กับรัฐจำนวนมหาศาล

ประเด็นที่สอง : แสดงให้เห็นโครงสร้างของการกระจายสลาก กลไกการสร้างมูลค่าของสลาก สลากจำนวน 2 ใน 3 กระจายสู่ผู้ค้ารายย่อยที่ได้ลงทะเบียนและได้รับการตรวจสอบแล้วว่าเป็นผู้ค้ารายย่อยจริง มีแผงค้าเป็นของตนเอง ผู้ค้าเหล่านี้จะแจ้งความจำนงล่วงหน้าว่าในงวดถัด ๆ ไป จะมารับซื้อไปขายกี่ฉบับ ช่วยให้สำนักงานสลากคำนวณได้ว่า ในแต่ละงวดต้องพิมพ์สลากกี่ใบ โดยที่ไม่เหลือมากจนขาดทุน จากโครงสร้างตลาดที่ไม่สอดรับกับความต้องการของผู้บริโภคและผู้ค้าเร่บางส่วน สบช่องให้เกิด ยี่ปั๊ว หรือผู้รวบรวมสลากเพื่อนำมาจัดชุด โดยแต่ละชุดจะมีเลขสลากเหมือนกัน ทำให้เมื่อถูกรางวัล ชุดนั้นก็จะได้รับเงินเป็นทวีคูณ

ประเด็นที่สาม : คนขายหวย นำเสนอวิถีชีวิตและเทคนิคในการขายหวยของผู้ค่าเร่ อาชีพเร่ขายหวยหรือลอตเตอรี่นี้เพิ่งเริ่มมีมาเมื่อ 30 ปีก่อน ชาวบ้านโพนงาม อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย มาเดินขายลอตเตอรี่ที่กรุงเทพ ฯ ถือเป็นจุดกำเนิดของ "หวยเดินไปหาคนซื้อ" คนเร่ขายลอตเตอรี่จะปรากฏตัว ณ จุดที่ผู้คนรวมตัวกัน ไม่ว่าจะ BTS MRT ห้างสรรพสินค้า หรือ แม้แต่ในหมู่บ้าน ไม่ซ้ำรายกันเลยทีเดียว วิถีชีวิตของผู้ค้าเร่ขายลอตเตอรี่ ขึ้นอยู่กับสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล และ โครงสร้างการตลาดของลอตเตอรี่ในแต่ละงวด พวกเขาเป็นไม้สุดท้ายที่นำส่งลอตเตอรี่มายังมือของนักเสี่ยงโชค

ประเด็นที่สี่ : คน เล่น หวย +ความเชื่อ สิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อนำเสนอความเชื่อ ความหวังของคนเล่นหวย เหตุใด เราถึงผูกโยงสิ่งศักดิ์สิทธิ์กับหวย ซึ่งเป็นเรื่องสถิติ การคำนวณ เช่น หวยย่านาค หวยไอ้ไข่ หวยคำชะโนด ฯลฯ หรือเพราะสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติ เป็นแหล่งเพิ่มความหวังและกำลังใจที่อยู่กับสังคมไทยมาช้านาน ในทุกเรื่องตั้งแต่เรื่องส่วนตัว ไปจนถึงการชะตากรรมของบ้านเมือง

ไม่ระบุชื่อเรื่อง

นิทรรศการ ชุด 100 ปี ตึกเรา : ตึกเก่า เล่าใหม่

นิทรรศการ ชุด ตึกเก่า เล่าใหม่ (New Take on Old Building) : 100 ปีตึกเรา ร้อยเรื่องราว เล่าเรื่องตึก (A Century of Our Building) เป็นนิทรรรศการชั่วคราวที่จัดแสดง ณ มิวเซียมสยาม ระหว่างวันที่ 23 เมษายน 2565 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 เนื่องในวาระที่อาคารมิวเซียมสยาม(กระทรวงพาณิชย์เดิม) มีอายุครบ 100 ปี ในปี พ.ศ. 2565 อาคารหลังนี้สร้างขึ้นเป็นสำนักงานของกระทรวงพาณิชย์ในปี พ.ศ. 2465 ออกแบบก่อสร้างโดยกรมโยธาธิการ ผู้รับผิดชอบโครงการนี้ คือ นายมารีโอ ตามาญโญ หัวหน้ากองสถาปัตย์ และนายเอมีลีโอ โจวันนี กอลโล หัวหน้าวิศวกร

หนึ่งศตวรรษของการเปลี่ยนผ่าน จากการออกแบบเมื่อ 100 ที่แล้ว สู่กระทรวงพาณิชย์ถึงมิวเซียมสยาม ตึกเก่านี้จึงเต็มไปด้วยเรื่องราวมากมายให้เล่าขานมากมาย

ปี ๒๕๖๕ นี้ "มิวเซียมสยาม" เชิญชวนทุกท่านมาร่วมเฉลิมฉลองและรำลึกถึงอาคารซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของ "เรา" โบราณสถานอันสง่างามหลังนี้ก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมเปิดใช้งานเป็น "กระทรวงพาณิชย์" เมื่อปี ๒๔๖๕ และมิวเซียมสยามได้รับมอบดูแลต่อเพื่อจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ ตึกมิวเซียมสยาม(กระทรวงพาณิชย์เดิม) มีอายุครบ ๑ ศตวรรษ หรือ ๑๐๐ ปีในปี 2565 จากการออกแบบของนายช่างชาวอิตาลี สู่กระทรวงพาณิชย์ และมิวเซียมสยาม เป็น ๑๐๐ ปี ของความทรงจำของผู้คนที่เคยทำงาน หรือมาใช้บริการที่นี่ เป็นตึกเก่าที่เต็มไปด้วยเรื่องราวมากมายให้เล่าขาน

เราขอเชิญทุกท่านมาร่วมบันทึกความทรงจำกันในนิทรรศการ "ตึกเก่าเล่าใหม่"

"ตึกเรา" แห่งนี้ ไม่ได้หมายรวมถึง "เรา" ที่เป็นชาว "มิวเซียมสยาม" เท่านั้น แต่โอบรับเอา "สาวก" มิวเซียมสยามทุกท่าน รวมไปถึงเยาวชนและประชาชนไทยทั่วไป ได้มีส่วนมาเป็นเจ้าของ "ตึกเรา" ร่วมกัน

ไม่ระบุชื่อเรื่อง

ภาพถ่ายงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การสร้างสรรค์นิทรรศการเพื่อการเรียนรู้อย่างรื่นรมย์ (3 – 4 เมษายน พ.ศ. 2549)

สัมมนาเชิงปฏิบัติการ “ การสร้างสรรค์นิทรรศการเพื่อการเรียนรู้อย่างรื่นรมย์ วันที่ 3 – 4 เมษายน พ.ศ. 2549 ณ ห้องสัมมนาโรงแรมรอยัลซิตี้ ถนนบรมราชชนนี เขตบางพลัด กรุงเทพฯ เวลา 09.00 น. - 17.30 น.
สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ ( สพร. ) จัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “ การสร้างสรรค์นิทรรศการเพื่อการเรียนรู้อย่างรื่นรมย์ ” โดยมีการเชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศร่วมบรรยายในหัวข้อ “ Museum in the Modern World ” โดย ELAINE GURIAN ซึ่งเนื้อหาโดยรวมจะกล่าวถึงบทบาทที่เปลี่ยนไปของพิพิธภัณฑ์ในยุคโลกไร้พรมแดน , “ Validating the Narrative Based Museum ” โดย KENNETH GORBEY ซึ่งจะมีกล่าวถึงแนวคิดที่เปลี่ยนไปจากพิพิธภัณฑ์ที่เน้นการสะสมวัตถุเพื่อจัดแสดง มาเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มุ่งเน้นการเล่าเรื่องราวจากวัตถุเหล่านั้น และ “ Interpretive Design in a Museum Context ” โดย DESMOND FREEMAN จะกล่าวถึงการพัฒนาเนื้อหาและเค้าโครงเรื่องของนิทรรศการให้กลายมาเป็นนิทรรศการที่เป็นรูปธรรม และน่าสนใจมากยิ่งขึ้นได้อย่างไร? รวมถึงเคล็ดลับและขั้นตอนในการสร้างสรรค์และเลือกใช้สื่ออันหลากหลายมาผนวกกับข้อมูลเชิงวิชาการ เพื่อทำการสื่อสารเนื้อหาเรื่องราวผ่านรูปแบบของการจัดชุดนิทรรศการ ซึ่งหัวข้อในการบรรยายเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ รูปแบบและเนื้อหาจะมุ่งเน้นการมีส่วนร่วม และการแลกเปลี่ยนความคิดระหว่างกลุ่มเครือข่ายพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้กับกลุ่มนักออกแบบนิทรรศการ เกี่ยวกับปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ที่กลุ่มเครือข่ายพิพิธภัณฑ์เพื่อการเรียนรู้กำลังประสบอยู่ เพื่อหาแนวทางกลยุทธ์ในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน และมีการนำเสนอประเด็นในการพัฒนาและสร้างสรรค์นิทรรศการ ( Exhibition Development ) , การบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์ ( Museum Management ) , เทคนิคในการออกแบบชุดนิทรรศการ ได้แก่ งานด้าน แสง สี เสียง ( Lighting , Media , Audio Visual ) , การจัดทำแผ่นป้ายคำบรรยาย และการจัดเส้นทางเดินชมชุดนิทรรศการ ( Captions and Exhibition Traffic ) ทั้งนี้กลุ่มนักออกแบบนิทรรศการและกลุ่มเครือข่ายพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ จะได้รับการถ่ายทอดประสบการณ์และความรู้ในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์อย่างถูกวิธีจากผู้ชำนาญการเฉพาะด้าน ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนารูปแบบการจัดนิทรรศการ รวมถึงการพัฒนาโครงเรื่องและเนื้อหาการศึกษางานพิพิธภัณฑ์ ( Education ) และการนำเทคนิคใหม่ๆ มาประยุกต์ใช้กับงานออกแบบนิทรรศการได้ด้วยตนเองต่อไปในอนาคต โดยมีการยกตัวอย่างกรณีศึกษาจากแหล่งเรียนรู้พิพิธภัณฑ์ที่สำคัญและน่าสนใจในต่างประเทศ ผ่านประสบการณ์จริงในด้านการบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์และการพัฒนาออกแบบ จัดสร้างนิทรรศการอย่างเป็นระบบและสมบูรณ์มากที่สุด

ผลลัพธ์ 41 to 60 of 67