Showing 2733 results

คำอธิบายจดหมายเหตุ
Print preview View:

2182 results with digital objects Show results with digital objects

เครื่องรางของขลัง : นางกวัก

นางกวัก

อิทธิคุณของนางกวัก ถ้าจะให้ขายของได้ดีให้ละลายแป้งหอมลงในน้ำมันหอม แล้วเอานางกวักแช่ลงไปเสกด้วยมนต์นี้ "โอมเทิบ เทิบ มหาเทิบ เทิบ สัพพะเทิบ เทิบ สวาหะ" ตามกำลังวัน แล้วนำแป้งและน้ำมันหอมประพรมสิ่งของที่จะนำไปขาย และจุณเจิมที่หน้าร้านค้าจะขายดีเป็นเทน้ำเทท่า

เคล็ดในการบูชานางกวักและกุมารทอง ให้อาราธนา หรืออธิษฐานทุกครั้ง ก่อนทำการค้าขาย และตั้งบูชาในที่อันควร โดยจุดธูปบูชา 5 ดอก พร้อมถวายน้ำเปล่า นอกจากนี้ ยังนิยมถวายน้ำแดง น้ำเขียว ไปจนถึงยาคูลท์ ส่วนพวงมาลัยสดนั้น ให้ขึ้นหิ้งทุกวันพระ แต่ห้ามถวายเหล้า หรือสิ่งเสพย์ติดเป็นอันขาด

คติการถวายของเล่นและน้ำหวานแก่กุมารทองนั้น คงมาจากความเชื่อที่ว่า กุมารทองยังเป็นเด็ก ชอบเล่นของเล่นและชอบดื่มน้ำหวานนั่นเอง

เครื่องรางของขลัง : ศาลพระภูมิ

ศาลพระภูมิ

ความเป็นมาของพระภูมิชัยมงคลตามคติทางศาสนาพราหมณ์ ในสมัยหนึ่งผู้เป็นใหญ่ที่สุดในมวลมนุษย์ พระนามว่า “ท้าวทศราช” ปกครองนคร “กรุงพาลี” ปกครองบ้านเมืองอย่างไร้คุณธรรม พระนารายณ์จึงอวตารลงมาปราบและขับไล่พระเจ้ากรุงพาลีพร้อมครอบครัวให้ไปอยู่นอกเขตป่าหิมพานต์ ราษฎรจึงอยู่อย่างเป็นสุข ฝ่ายท้าวทศราชต้องพบกับความยากลำบากจึงสำนึกผิด และเข้าเฝ้าพระนารายณ์ เพื่อขออภัยโทษ และปวารณาตนว่าจะตั้งอยู่ในศีลธรรม ประกอบกรรมดี พระนารายณ์เห็นจิตอันแรงกล้าจึงอภัยโทษและอนุญาตให้ท้าวทศราชและครอบครัวกลับมาอยู่ที่กรุงพาลีได้ดังเดิม แต่ให้ประทับอยู่บนศาลที่มีเสาเพียง 1 เสาปักลงบนผืนดิน และต้องปฏิบัติตามคำสัญญาอย่างเคร่งครัด

เครื่องรางของขลัง : ควายธนู

ควายธนู

วัวธนูหรือควายธนูนั้นเป็นเครื่องรางของขลังจำพวกอาถรรพ์พระเวทไม่ใช่เครื่องรางของขลังสามัญทั่วไป ผู้ที่ใช้ต้องเป็นผู้มีวิชาอยู่พอสมควรสามารถเรียก ปลุก ใช้ และเรียกกลับมาได้

วัวธนูหรือควายธนูเป็นวิชาของคนไทยแต่โบราณใช้เขาวัวที่ถูกฟ้าผ่าตายมาแกะเป็นรูปวัวแล้วเจาะรูสำหรับบรรจุของอาถรรพ์ (ผมผีตายโหง 2 ศพ ปิดด้วยชันนางโลมใต้ดิน) แล้วลงอักขระธาตุพระกรณี (จะภะกะสะ) ที่ตัววัวหรือสร้างขึ้นมาจากสิ่งมีอาถรรพ์ (ตะปูจากโลงศพ เหล็กขนัน ผีตายท้องกลม งั่ง ทองแดงเถื่อน ดีบุก เงินปากผี ทองยอดนพศูนย์) นำมาหล่อเป็นรูปโคหรือรูปกระทิงโทนแล้วลงอักขระยันต์

การทำวัวธนู นั้นจะมีเวทมนตร์คาถากำกับแตกต่างกัน โดยในการสร้างนั้นจะมีคาถาเชิญเทพเทวาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้มาสิงสถิต เวลาจะใช้วัวให้ออกไปต่อสู้กับศัตรูหรือภูตผีปีศาจก็ใช้คาถาปลุกแล้วสั่งให้ไป

นิทรรศการ ชุด จับไมค์ใส่ขนนก ปรากฎการณ์ลูกทุ่งไทย (พ.ศ. 2553)

ปรากฏการณ์ความคิดสร้างสรรค์ของลูกทุ่งไทย พร้อมไขความสำเร็จที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอด 50 ปีที่ผ่านมา ผ่าน 5 ยุคแห่งเพลงลูกทุ่งไทย ที่ได้สร้างศิลปินในตำนานไว้หลายท่าน อาทิ สุรพล สมบัติเจริญ, ยอดรัก สลักใจ, พุ่มพวง ดวงจันทร์ ฯลฯ รวมถึงการจัดแสดงของหายากในวงการลูกทุ่ง

ไม่ระบุชื่อเรื่อง

จับไมค์ใส่ขนนก : เพลงลูกทุ่ง

เพลงลูกทุ่ง หมายถึง เพลงที่สะท้อนวิถีชีวิต สภาพสังคม อุดมคติและวัฒนธรรมไทย มีท่วงทำนอง คำร้อง สำเนียง ลีลาการร้อง การบรรเลง ที่เป็นแบบแผน มีลักษณะเฉพาะ ซึ่งให้บรรยากาศของความเป็นลูกทุ่ง โดยเฉพาะการร้องเอื้อนที่ใช้ลูกคอ

เพลงลูกทุ่งเป็นเพลงไทยที่มีลักษณะเฉพาะ กล่าวคือ มีการใช้ภาษาง่าย ๆ บรรยายเรื่องราวของชีวิต สภาพสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งเน้นชีวิตของชาวชนบท โดยก่อนหน้านั้น ยังไม่มีการแบ่งแยกว่า เป็นลูกทุ่งหรือลูกกรุง เนื่องจาก เพลงไทยได้พัฒนามาจากเพลงไทยเดิมที่ใช้คำร้องที่มีลักษณะการเอื้อน และใช้เครื่องดนตรีไทยบรรเลง มาเป็นเพลงไทยสากล ที่มีเนื้อร้องเต็ม ใช้เครื่องดนตรีสากลบรรเลง ซึ่งได้รับความนิยมมากขึ้น เนื่องจากฟังง่าย ร้องง่าย จำได้ง่าย และมักเรียกลักษณะจากแนวการร้องของนักร้องแต่ละคนมากกว่า เช่น แนวรำวง แนวเพลงเพื่อชีวิต นอกจากนี้ นักประพันธ์เพลงรุ่นเก่า ๆ ก็ไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการแบ่งแยกประเภทของเพลงไทยสากลว่า เป็นเพลงลูกทุ่ง และลูกกรุง เพราะถือว่า ดนตรีเป็นภาษาสากลและต่างเป็นเพลงไทยสากลเช่นเดียวกัน

จับไมค์ใส่ขนนก : ยุคต้น (พ.ศ. 2481 - 2507)

ยุคต้น (พ.ศ. 2481 - 2507)

นับว่า เป็นยุคบุกเบิกเพลงลูกทุ่ง เนื้อหาเพลงลูกทุ่งช่วงนี้ มักกล่าวถึงธรรมชาติ ที่สวยงามของชนบท ส่วนวิถีชีวิตของชาวชนบทมักกล่าวถึงความรักของหนุ่มสาว ความยึดมั่นในศาสนา และขนบธรรมเนียมประเพณี นักร้องที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ต่อวงการเพลงลูกทุ่งไทย ในแง่ที่เป็นผู้ริเริ่มเสนอผลงานเพลงอันทรงคุณค่าในยุคแรก ๆ เช่น คำรณ สัมบุณณานนท์ ชาญ เย็นแข ปรีชา บุญญเกียรติ วงจันทร์ ไพโรจน์ เบญจมินทร์ สมยศ ทัศนพันธ์ ส่วนนักร้องหญิงที่มีชื่อเสียง เช่น ผ่องศรี วรนุช ศรีสอางค์ ตรีเนตร วงดนตรีที่เด่น ๆ เช่น วงจุฬารัตน์ ของมงคล อมาตยกุล วงดนตรีพยงค์ มุกดา

จับไมค์ใส่ขนนก : ยุคภาพยนตร์เพลง (พ.ศ. 2513 - 2515)

ยุคภาพยนตร์เพลง (พ.ศ. 2513 - 2515)

เมื่อมีการแข่งขันกันเองระหว่างเพลงลูกกรุงและเพลงลูกทุ่งในยุคนี้ จึงเริ่มนำเพลงลูกทุ่งมาประกอบในภาพยนตร์ ซึ่งเรื่องแรกที่โด่งดัง เป็นที่กล่าวขวัญถึงเป็นอย่างมากคือ มนต์รักลูกทุ่ง โดยเฉพาะเพลงมนต์รักลูกทุ่ง ที่ไพบูลย์ บุตรขัน เป็นผู้แต่ง ขับร้องโดย ไพรวัลย์ ลูกเพชร มีความไพเราะ ทั้งท่วงทำนอง และเนื้อหา ดุจบทกวีที่ประทับใจผู้ชม เช่น "หอมเอย หอมดอกกระถิน รวยระรินเคล้ากลิ่นกองฟาง…หอมดินเคล้ากลิ่นไอฝน ครวญระคนหอมแก้มนงคราญ ขลุ่ยเป่าแผ่วพลิ้วผ่านทิวแถวต้นตาล มนต์รักเพลงชาวบ้านลูกทุ่งแผ่วมา" ส่งผลให้ภาพยนตร์เรื่องต่อๆ มาในยุคนี้ เปลี่ยนแนวมาเป็นภาพยนตร์เพลงส่วนใหญ่ เช่น เรื่อง โทน ที่มีสังข์ทอง สีใส ร้องนำ เนื้อหาของเพลงในช่วงนี้ นอกจากเป็นเรื่องของชาวชนบทท้องทุ่งท้องนาแล้ว ยังแทรกอารมณ์ขันและคารมเสียดสีด้วย

จับไมค์ใส่ขนนก : ยุคเพลงเพื่อชีวิต (พ.ศ. 2516 - 2519)

ยุคเพลงเพื่อชีวิต (พ.ศ. 2516 - 2519)

หลังจากเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นต้นมา เกิดกระแสความคิดแบบเพื่อชีวิต วงการเพลงลูกทุ่งซึ่งมีความไวต่อเหตุการณ์รอบตัวก็มีการแต่งเพลงในแนวเพื่อชีวิตมากขึ้น สะท้อนความยากจนของชาวนาชาวไร่ เช่น เพลงข้าวไม่มีขาย แต่งโดย โผผิน พรสุพรรณ มี ศรเพชร ศรสุพรรณ ขับร้อง สะท้อนให้เห็นภาพของหนุ่มชาวนาที่ทำนาแล้วไม่ได้ผล ทำให้ไม่มีข้าวไปขาย เพลงนี้ได้รับรางวัลเพลงยอดนิยมประจำปี พ.ศ. 2518 นอกจากนี้มีเพลงล้อเลียนการเมืองหรือเสียดสีนักการเมือง และเกิดเพลงลูกทุ่งผสมบทพูดขึ้นเป็นครั้งแรก โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับเหตุการณ์บ้านเมือง หรือชีวิตประจำวัน สร้างความขบขันเฮฮา แฝงด้วยการวิพากษ์วิจารณ์ เช่น เพลงผสมบทพูดตลกโดย เพลิน พรหมแดน

จับไมค์ใส่ขนนก : ยุคเพลงลูกทุ่งแนวสตริง (พ.ศ. 2528 - 2535)

ยุคเพลงลูกทุ่งแนวสตริง (พ.ศ. 2528 - 2535)

เมื่อดนตรีแนวสตริง และแนวร็อก ที่ได้รับอิทธิพลจากต่างประเทศ ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง เพลงสตริงสำหรับวัยรุ่นแพร่หลายเต็มตลาด ความนิยมเพลงลูกทุ่งเริ่มลดน้อยลง ทำให้เพลงลูกทุ่งต้องปรับตัวให้เข้ากับดนตรีสมัยใหม่ แนวสตริงคอมโบ เพื่อให้เพลงลูกทุ่งกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง นักร้องเพลงลูกทุ่ง ที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในยุคนี้ คือ พุ่มพวง ดวงจันทร์ ซึ่งเป็นนักร้องที่มีศักยภาพสูง มีลีลาการร้อง และการเต้น ที่เข้ากับดนตรีสมัยนิยม และเป็นนักร้องลูกทุ่งหญิงคนแรก ที่ได้บุกเบิกมิวสิกวิดีโอของวงการเพลงไทย ผลงานชุดแรกของพุ่มพวง ดวงจันทร์ คือ อื้อหือ หล่อจัง เมื่อ พ.ศ. 2528 จึงประสบความสำเร็จอย่างกว้างขวาง ทำลายเส้นแบ่งรสนิยมของผู้ฟัง ซึ่งก่อนหน้านี้ถือว่า ผู้ที่มีรสนิยมดีต้องฟังเพลงสากล เพลงลูกกรุง เพลงสตริง แต่เพลงลูกทุ่งของพุ่มพวงเป็นเพลงที่ได้รับความนิยม และฟังได้ทุกชนชั้น เนื้อหาของเพลงได้เปลี่ยนบทบาทของผู้หญิงจากเดิม ที่ต้องเก็บกดความรู้สึก หรือเป็นฝ่ายถูกกระทำ มาเป็นผู้หญิงที่กล้าพูด กล้าทำ กล้าเปิดเผยความรู้สึก ฉลาดรู้ทันคน

หลังจาก พ.ศ. 2528 ได้มีนักร้องจากต่างประเทศมาเปิดการแสดง เรียกว่า เป็นการแสดงคอนเสิร์ต ต่อมา นักร้องไทยจึงจัดการแสดงคอนเสิร์ตตามอย่าง โดยพุ่มพวง ดวงจันทร์ ได้จัดการแสดงคอนเสิร์ต ที่เซ็นทรัลพลาซ่า เมื่อ พ.ศ. 2529 ขณะที่เพลง กระแซะเข้ามาซิ ได้รับความนิยมอย่างสูง และมีผู้ชมการแสดงล้นหลาม นับเป็นมิติใหม่ ของวงการเพลงลูกทุ่งไทย ทำให้วงการเพลงลูกทุ่งเปลี่ยนจากเพลงที่เรียบง่ายธรรมดา ฟังสบายๆ มาเป็นเพลงที่เร่าร้อน จังหวะสนุกสนาน และมีสีสัน สร้างความประทับใจ ให้แก่ผู้ฟังทั่วประเทศ

จับไมค์ใส่ขนนก : ลักษณะสำคัญของเพลงลูกทุ่ง 1

ลักษณะสำคัญของเพลงลูกทุ่ง 1

เพลงลูกทุ่งเป็นเพลงที่มีลักษณะฟังง่าย เข้าใจง่าย สามารถนำมาร้องตามได้ ไม่มีกฎเกณฑ์อะไรในการประพันธ์เพลง ไม่ว่าจะนำเพลงพื้นบ้าน เช่น ลิเก ลำตัด แหล่ หมอลำ เซิ้ง มโนราห์ มาร้องและปรับแต่งทำนองเนื้อหา ตลอดจนนำเพลงไทยเดิม หรือเพลงต่างประเทศ เช่น เพลงจีน ญี่ปุ่น เกาหลี มาปรับปรุงแต่งเนื้อร้องเพิ่มทำนองใหม่ หลักสำคัญของการสร้างทำนอง คือ ให้สามารถบรรจุคำร้องและบันทึกเป็นโน้ตสากลเพื่อบรรเลงด้วยดนตรีสากลได้

ลักษณะเด่นของเพลงลูกทุ่ง คือ การร้องที่ร้องอย่างเต็มเสียง ชัดถ้อยชัดคำ การเอื้อนเสียง การใช้ลูกคอ หรือการระรัวเสียงลูกคอ ของเพลงลูกทุ่ง ซึ่งมีช่วงเสียงที่ลึกและกว้าง คลื่นลูกคอแต่ละคลื่นจะห่างกัน นอกจากนี้ทำนองของเพลงลูกทุ่งก็มีลักษณะพิเศษ ที่เด่นชัดอีกประการคือ การนำท่วงทำนองจากเพลงไทยเดิมมาใช้ ดังที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ มีความว่า
"เมื่อข้าพเจ้าเติบโตขึ้น ได้ฟังเพลงอย่างพินิจพิเคราะห์มากขึ้นกว่าเดิม ทั้งได้ร่ำเรียนดนตรีไทยจากท่านผู้รู้ต่าง ๆ ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ก็ได้เห็นความจริงว่า นักร้องลูกทุ่งนั้นที่ดีมากคือ การร้องเพลงด้วยเสียงแท้ และร้องเต็มเสียงอย่างชัดถ้อยชัดคำ อีกประการหนึ่ง ลีลาการขับร้องเพลงลูกทุ่งคือ การเอื้อนเสียง นักร้องลูกทุ่งทุกคนมีวิธีเอื้อนเสียงให้อารมณ์แบบพื้นบ้านที่ไพเราะน่าฟัง แตกต่างไปจากเพลงไทยอย่างชัดเจน เป็นแบบอย่างของลูกทุ่งแท้ๆ หากนำวิธีเอื้อนที่ใช้ในเพลงไทยไปใช้กับเพลงลูกทุ่งแล้ว เพลงนั้นก็จะขาดความเป็นเพลงลูกทุ่งทันที ในทางกลับกัน จะนำเอื้อนลูกทุ่งไปใช้ในเพลงไทยก็ไม่ดีเช่นกัน

เพลงลูกทุ่งดีๆ หลายเพลงได้ทำนองมาจากเพลงไทยของเก่า มีทั้งที่ใช้ทำนองเดิมตลอดทั้งเพลง และที่นำเค้าโครงเพลงเก่ามาดัดแปลงขึ้นใหม่ นับว่า เป็นสะพานเชื่อมให้ของเก่าต่อกับของใหม่ หากบอกว่า มาจากของเก่าชื่ออะไรด้วย คนรุ่นใหม่ก็จะได้เรียนรู้เพลงเก่าไปพร้อมกัน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ เพลงนกแล มาจากเพลงลาวต้อยติ่ง เพลงรักจางที่บางปะกง ที่สดใส รุ่งโพธิ์ทอง ร้อง มาจากเพลงแขกมอญบางขุนพรหม 2 ชั้น เพลงหนุ่มนารอนาง ของไวพจน์ เพชรสุพรรณ มาจากเพลงลาวลำปาง เพลงลูกทุ่งเสี่ยงเทียน ของชินกร ไกรลาศ ก็มาจากเพลงลาวเสี่ยงเทียน ที่ได้มาจากเพลงไทย แล้วแต่งเติมเปลี่ยนแปลงไปบ้างก็มี เพลงยอยศพระลอ ของชินกร ไกรลาศ (เพลงนี้ร้องเกริ่นสำเนียงลาวคล้ายเกริ่นลาวครวญ แต่ไม่ใช่ แล้วนำเพลงลาวกระทบไม้เข้ามาต่อ) ที่ได้มาจากเพลงของเด็ก เป็นเพลงไทยพื้นบ้านก็มี ที่ทำไว้ดีก็คือ เพลงอ้อนจันทร์ ศรชัย เมฆวิเชียร ขับร้อง"

จับไมค์ใส่ขนนก : ลักษณะสำคัญของเพลงลูกทุ่ง 2

ลักษณะสำคัญของเพลงลูกทุ่ง 2

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ได้กล่าวถึงลักษณะเด่นของเพลงลูกทุ่ง จากการสัมมนาเชิงวิชาการเรื่อง "เส้นทางเพลงลูกทุ่งไทย" เมื่อวันที่ 25 - 29 มิถุนายน พ.ศ. 2533 สรุปได้ 4 ประการดังนี้

  1. เรียบง่าย
    คำร้อง เนื้อร้องของเพลงลูกทุ่งมีความเรียบง่าย แต่ยังคงไว้ซึ่งระเบียบแบบแผน มีลักษณะสัมผัสแบบกลอน มีท่อนวรรคสดับ รับ รอง ส่ง แต่ละวรรคจะมีคำร้องจำนวนมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับทำนองและจังหวะของบทเพลง

  2. ใส่ความรู้สึก
    เพลงลูกทุ่งสามารถใส่ความรู้สึกตลก เศร้า เสียดสี สนุกสนาน สามารถเล่นเสียง มีลีลาการร้องที่ไม่เหมือนเพลงลูกกรุง ที่ร้องแบบเรียบ ๆ เนื่องจากเพลงลูกทุ่งรับเอาวัฒนธรรมมาจากเพลงไทยเดิม และเพลงพื้นบ้าน จึงเปิดทางให้ผู้ร้องใส่ความรู้สึกลงไปในถ้อยคำได้

  3. บันทึกเรื่อง
    เพลงลูกทุ่งส่วนมากจะบันทึกเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น นับเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์สังคมไทยในช่วงเวลาต่างๆ เช่น ภาวะสงคราม การเมือง สภาพสังคมสมัยต่าง ๆ

  4. เฟื่องภาษา
    เพลงลูกทุ่งสามารถใช้ถ้อยคำบรรยายให้เกิดภาพพจน์ บางเพลงมีสำนวนโวหารที่สละสลวย

จับไมค์ใส่ขนนก : เครื่องแต่งกาย

เครื่องแต่งกาย

ในยุคแรก ๆ นักร้องลูกทุ่งยังคงแต่งกายในรูปแบบการแต่งกายของชาวชนบท นักร้องชายใส่เสื้อม่อฮ่อม นักร้องหญิงนุ่งผ้าซิ่นหรือผ้าถุง เมื่อมีการแข่งขันมากขึ้น เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายก็พัฒนาให้มีความแปลกใหม่ตามไปด้วย นักร้องชายเริ่มมีการใส่สูท ส่วนชุดของนักร้องหญิงมีสีสันสดใส รูปแบบหลากหลาย และมีเครื่องประดับตกแต่งเพื่อให้มีความโดดเด่นที่สุดบนเวที ความสวยงามหรูหราของเครื่องแต่งกายนักร้อง มีการปักเลื่อม ติดระบาย รวมทั้งหางเครื่องที่มีการพัฒนาเครื่องแต่งกาย จากเดิมเพียงแค่คนในวงที่ว่างงานที่ช่วยเขย่าเครื่องดนตรี มาเป็นการเต้นประกอบเพลงด้วย รูปแบบเครื่องแต่งกายที่มีสีสัน มีการใช้ขนนก เลื่อม เพชรประดับตกแต่งให้ดูสวยงาม หรูหรา เห็นแล้วสะดุดตา ปัจจุบันมีการพัฒนาและประยุกต์ชุดหางเครื่องให้มีความทันสมัย เช่น การดัดแปลงจากชุดไทยให้มีความร่วมสมัยมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงทางด้านเครื่องแต่งกายของนักร้องชายที่เห็นได้ชัดเจน คือ จักรพรรณ์ อาบครบุรี ซึ่งเจ้าของค่ายเพลงมีการลงทุนด้านเครื่องแต่งกายสูงมาก นับเป็นการปฏิวัติการแต่งกายของนักร้องที่จะต้องตกแต่งปักเลื่อมติดเพชร ให้มีความสวยงามสะดุดตาผู้ชม

จับไมค์ใส่ขนนก : ผู้ชม

ผู้ชม

การแสดงความนิยมชมชอบของผู้ชม ที่มีต่อนักร้องที่ตนชื่นชอบ คือ การช่วยสนับสนุน ซื้อผลงานของนักร้องผู้นั้น หรือการซื้อบัตรชมการแสดง ซึ่งเวลาชมการแสดงของนักร้อง ที่ตนนิยม นอกจากจะปรบมือแสดงความชื่นชมแล้ว ยังมีการมอบสิ่งของ เช่น พวงมาลัยคล้องคอ ของขวัญ ให้นักร้องในเวลาที่ร้องเพลงจบ หรือในช่วงที่ดนตรีบรรเลงคั่นเพลง พวงมาลัยมีทั้งแบบที่ซื้อจากหน้างาน ซึ่งมักเป็นการจำหน่ายของวงดนตรีวงนั้น ๆ เอง หรือเจ้าภาพนำมาจำหน่าย และแบบที่ผู้ชมจัดเตรียมมาเอง รูปแบบของพวงมาลัยอาจแบ่งได้ 4 ลักษณะ ได้แก่

1) พวงมาลัยที่ทำจากดอกไม้สด เช่น ดอกดาวเรือง ดอกมะลิ และอื่นๆ
2) พวงมาลัยที่ทำจากริบบิ้นคล้องกันเป็นลูกโซ่
3) พวงมาลัยที่ทำจากธนบัตร และ
4) พวงมาลัยที่มีลักษณะผสมผสานกัน เช่น พวงมาลัยดอกดาวเรืองติดธนบัตร

ผลลัพธ์ 2601 to 2620 of 2733