Showing 2179 results

คำอธิบายจดหมายเหตุ
With digital objects
Print preview View:

จับไมค์ใส่ขนนก : ยุคปัจจุบัน (พ.ศ. 2536 - ปัจจุบัน)

ยุคปัจจุบัน (พ.ศ. 2536 - ปัจจุบัน)

ความนิยมในกลุ่มวัยรุ่นที่ชื่นชอบเพลงแนวสตริง ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างผู้ฟังกลุ่มผู้ใหญ่ บรรดาค่ายเทปเพลงต่างเล็งเห็นผลประโยชน์ที่จะได้จากผู้ฟังกลุ่มผู้ใหญ่ จึงได้นำเอาเพลงเก่าที่มีคุณค่าและเป็นที่รู้จัก คือ เพลงของวงสุนทราภรณ์มาเรียบเรียงเสียงประสานขับร้องใหม่ เช่น ชุด เยื่อไม้ เพลงหวานเมื่อวานนี้ ตราบนิรันดร์ มหาอมตะนิรันดร์กาล จึงเป็นกระแสของการอนุรักษ์เพลงเก่าซึ่งแพร่เข้ามาสู่วงการเพลงลูกทุ่ง สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้จัดงาน "กึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย" ขึ้น เมื่อวันที่ 25-26 มิถุนายน พ.ศ. 2533 โดยเชิญนักร้องเพลงลูกทุ่งยอดนิยมรุ่นเก่า มาแสดง และมีการอภิปรายของผู้ประพันธ์เพลง และนักวิชาการ ต่อมา มีการจัดงาน "กึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย ภาค 2" เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2535 เป็นการปลุกกระแสความนิยมเพลงลูกทุ่งกลับมาอีกครั้ง จนกระทั่งใน พ.ศ. 2535 ราชินีเพลงลูกทุ่ง พุ่มพวง ดวงจันทร์ เสียชีวิตอย่างกะทันหัน

ในระยะ 10 ปี ที่ผ่านมา เพลงลูกทุ่งยังคงได้รับความนิยมจากผู้ฟังอย่างต่อเนื่อง หลายเพลงเป็นเพลงยอดนิยมที่มีเนื้อหา ที่ประทับใจผู้ฟัง เช่น เพลง กระทงหลงทาง ของ ไชยา มิตรชัย เพลง จดหมายผิดซอง ของ มนต์สิทธิ์ คำสร้อย เพลง ยาใจคนจน และเพลง รองเท้าหน้าห้อง ของ ไมค์ ภิรมย์พร เพลง ปริญญาใจ ของ ศิริพร อำไพพงษ์ เพลง ขอใจกันหนาว ของ ต่าย อรทัย เพลงลูกทุ่งเหล่านี้ล้วนได้รับความนิยมทั่วประเทศ

จับไมค์ใส่ขนนก : นักร้อง

นักร้อง

การเป็นนักร้องอาชีพต้องผ่านขั้นตอนต่างๆ และต้องใช้ความพยายามอย่างมาก โดยเริ่มจากเป็นนักร้องสมัครเล่น ที่มีใจรักการร้องเพลง ส่วนใหญ่อาจผ่านเวทีการประกวดร้องเพลงที่จัดขึ้นตามงานต่างๆ ในสมัยก่อนเวทีประกวดที่สำคัญ คือ เวทีประกวดในงานวัด เมื่อใดที่วัดมีงานประจำปี มักจัดประกวดร้องเพลงเพื่อดึงดูดผู้ชมมาชมการประกวด เวทีงานวัดจึงเป็นหนทาง สำหรับผู้ที่ต้องการแสดงความสามารถด้านการร้องเพลง มาแสดงอย่างเต็มที่ เพลงที่ใช้ในการประกวด อาจเป็นเพลงที่กำลังได้รับความนิยม หรือเป็นเพลงที่แต่งขึ้นมาเอง เวทีงานวัดที่มีชื่อเสียงได้รับความนิยม เช่น วัดหัวลำโพง วัดสุทัศนเทพวราราม วัดสระเกศ ซึ่งวัยรุ่นที่มีใจรักการร้องเพลงจะใช้โอกาสนี้ขึ้นไปแสดงความสามารถบนเวที เพื่อเปิดตัวต่อสาธารณชน ต่อมาก็มีเวทีประกวดตามรายการวิทยุ โทรทัศน์ และการประกวดระดับชาติ หรือบางคนอาจสมัครอยู่ในวงดนตรี และเริ่มจากงานรับใช้ต่างๆ ภายในวงดนตรี และฝึกฝนการร้องเพลง เพื่อหาโอกาสร้องเพลงหน้าเวทีและบันทึกเสียง

จับไมค์ใส่ขนนก : เวที

เวที

วงดนตรีลูกทุ่งเป็นวงดนตรีขนาดใหญ่ มีทั้งนักดนตรี เครื่องดนตรี เครื่องเสียง และหางเครื่อง จึงต้องใช้พื้นที่บนเวทีมากพอสมควร แต่เดิมเวทีกลางแจ้งอาจประกอบอย่างง่าย ๆ โดยเป็นเวทีทำด้วยไม้กระดานปูบนถังน้ำมันขนาดใหญ่ เวทีสูงจากพื้นประมาณ 2 - 2.5 เมตร ทั้งนี้ต้องไม่สูงเกินไปนัก เพื่อให้แฟนเพลงได้คล้องพวงมาลัยนักร้อง ด้านหน้าเวทีติดตั้งหลอดไฟหลากสี ฉากหลังมีชื่อวงดนตรี หรือชื่อนักร้องขนาดใหญ่พร้อมประดับไฟให้ดูเด่น ด้านหลังเวทีใช้เป็นที่แต่งตัวของหางเครื่องและเป็นที่เตรียมตัวของนักร้อง แต่ในปัจจุบันได้มีการประกอบเวทีชั่วคราวกลางแจ้งอย่างแข็งแรงมั่นคง มีอุปกรณ์เฉพาะที่ติดตั้งสะดวก ถอดประกอบง่าย โดยวงดนตรีที่ใหญ่ๆ อาจมีทีมงานเฉพาะสำหรับติดตั้งเวทีล่วงหน้า หรือจ้างจากบริษัทที่รับจัดงานโดยตรง ทั้งนี้ เพื่อความสะดวก รวดเร็ว และป้องกันอุบัติเหตุ

จับไมค์ใส่ขนนก : เครื่องดนตรี

เครื่องดนตรี

เครื่องดนตรีสากลที่ใช้ประกอบการบรรเลงเพลงลูกทุ่ง ส่วนใหญ่เป็นเครื่องเป่า ได้แก่ แซกโซโฟน ทรอมโบน ทรัมเป็ต กลอง กีตาร์ และเบส ส่วนเครื่องดนตรีไทย เช่น ฉิ่ง แคน ระนาด โทน ขลุ่ย ฯลฯ และมีเครื่องดนตรีอีกชนิดหนึ่ง ปรากฏอยู่ในเพลงลูกทุ่งระยะแรกจำนวนมาก คือ หีบเพลงชัก (accordion) ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของเพลงลูกทุ่งในอดีตทีเดียว

การจะเลือกใช้เครื่องดนตรีชนิดใดนั้น ขึ้นอยู่กับท่วงทำนอง และจังหวะของเพลง การใช้เครื่องดนตรีไทยประกอบเพลงลูกทุ่ง มีลักษณะใช้ประกอบเป็นช่วงสั้นๆ บรรเลงนำท่อนร้อง หรือบรรเลงรับเมื่อจบเนื้อร้องแต่ละท่อน ส่วนใหญ่ใช้กับเพลงที่มีพื้นฐานมาจากเพลงไทยเดิมหรือเพลงพื้นบ้าน และเพลงที่ต้องการให้เกิดบรรยากาศแบบไทย การใช้เครื่องดนตรีพื้นบ้าน ส่วนใหญ่จะนำมาประกอบเครื่องดนตรีสากลตามแนวของเพลงในแต่ละท้องถิ่น เพื่อช่วยสร้างบรรยากาศให้เป็นไปตามเนื้อร้อง ทำนอง และสำเนียงของบทเพลง เช่น ภาคเหนือ มักใช้พิณ ซอ ซึง ภาคกลาง มักใช้ระนาด ฉิ่ง กลองโทน กลองยาว รำมะนา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มักใช้แคน โปงลาง ภาคใต้ มักใช้โทน กลองชาตรี รำมะนา โหม่ง ฉิ่ง กรับ ปี เป็นส่วนประกอบ

การใช้เครื่องดนตรีสากลในอดีตมักใช้เครื่องเป่า และเครื่องให้จังหวะเป็นหลัก ในสมัยต่อมามีการนำเครื่องดนตรีไฟฟ้ามาใช้ เช่น กีตาร์ เบส คีย์บอร์ด เพื่อให้เข้ากับดนตรีสมัยใหม่ และสร้างความนิยมให้กับผู้ฟัง จึงกลายเป็นเพลงลูกทุ่งที่มีความทันสมัย เทียบเท่าเพลงสตริงและเพลงป๊อปในปัจจุบัน ซึ่งแตกต่างจากเพลงลูกทุ่งในอดีตอย่างสิ้นเชิง

จับไมค์ใส่ขนนก : การตั้งวงดนตรี

การตั้งวงดนตรี

การตั้งวงดนตรีลูกทุ่งวงหนึ่ง ๆ มักมีองค์ประกอบหลัก ได้แก่ นายทุน หรือเจ้าของบริษัทแผ่นเสียง เทปเพลง ที่ออกเงินทุน ให้กับวงดนตรี หรือนักร้องเป็นผู้ตั้งวงดนตรีเอง ต่อไปคือ นักร้อง ผู้จัดการวงดนตรี ที่จะคอยนัดหมายการแสดงให้กับวง นักดนตรี นักร้องคนอื่นๆ ในวง ตลก เจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคนิค การทำฉาก แสง สี เสียง เจ้าหน้าที่ขนย้าย ขนเครื่องดนตรี ขนย้ายฉาก หางเครื่อง แม่ครัว คนขับรถ เด็กผู้ช่วยประจำวง ซึ่งวงดนตรีลูกทุ่งวงใหญ่ๆ อาจมีคนในวงมากกว่า 200 คน และมักเดินทางไปในที่ต่างๆ ด้วยรถโดยสารขนาดใหญ่หลายคัน การตั้งวงดนตรีจึงจำเป็นต้องใช้เงินทุนสูง และจำเป็นต้องออกเดินสายตลอดปี เพื่อให้มีรายได้เพียงพอสำหรับจ่ายให้แก่สมาชิกในวง ตัวอย่างเช่น วงดนตรีของวงพิณแคนแดนอีสาน ซึ่งมี ศิริพร อำไพพงษ์ เป็นนักร้องนำ และเป็นหัวหน้าวง จำนวนคนในวงมีมากกว่า 200 คน แบ่งเป็น นักร้อง นักดนตรี หางเครื่อง หมอลำ ตลก และเด็กในวง ซึ่งกว่าร้อยละ 70 เป็นลูกหลานเครือญาติของศิริพร อำไพพงษ์ วงพิณแคนแดนอีสานจะเดินสายไปเปิดการแสดง เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคมไปจนถึงเดือนพฤษภาคม ในปีถัดไป ซึ่งในช่วงดังกล่าวเข้าสู่ฤดูหนาวต่อถึงฤดูร้อน และหยุดพักในช่วงฤดูฝน วงพิณแคนแดนอีสานรับงานในลักษณะของการจ้างวงดนตรีไปแสดง หรือทางวงเปิดการแสดงเอง เรียกว่า "งานล้อมผ้า" ระหว่างการเดินสายไปตามจังหวัดต่างๆ รูปแบบการแสดงมีทั้งเป็นเพลงลูกทุ่ง สตริง ตลกอีสาน เพลงนานาชาติ ลิเกอีสาน เป็นต้น เพื่อสร้างความหลากหลายให้กับผู้ชมผู้ฟัง มีการคัดเลือกนักร้องคนอื่นๆ ในวงขึ้นมา เพื่อสร้างความหลากหลาย และแนวการร้อง ที่แตกต่างเป็นลักษณะเฉพาะตัว เพื่อสร้างจุดขาย และแบ่งเบาภาระของนักร้องนำ

ผลลัพธ์ 181 to 200 of 2179